ไขข้อสงสัย อาการ "ตากระตุก" เกิดจากอะไร หากมีอาการบ่อย จะอันตรายไหม แล้วสัญญาณอันตรายแบบไหนที่ควรจะไปพบแพทย์
ข่าวที่น่าสนใจ
พญ. หทัยรัตน์ ลาวัณย์รัตนากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจักษุแพทย์ ไขข้อสงสัย อาการ “ตากระตุก” มีสาเหตุจากอะไร แนะวิธีรักษา พร้อมเผยสัญญาณเตือนที่ควรไปพบแพทย์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ตา กระตุก คืออะไร
- อาการที่เปลือกตามีการขยับเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว อาจเป็นเพียงเล็กน้อย หรืออาจเกิดขึ้นถี่ ๆ จนทำให้เกิดความรำคาญได้
- เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่มีอัตราการเกิดที่เปลือกตาบนมากกว่า
- โดยทั่วไป มักเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและมักไม่เป็นอันตราย สามารถเกิดขึ้นและหายได้เองในเวลาอันสั้น
- แต่ในบางกรณีอาการอาจรุนแรงและไม่สามารถหายเองได้ เช่น อาการตากระตุกเกร็งจนทำให้เปลือกตาด้านบนปิดลงมา หรืออาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น โรคอัมพาตใบหน้า (Bell’s Palsy) โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia) เป็นต้น แต่กรณีนี้พบได้น้อยมาก
ตา กระตุก เกิดจากอะไร
สามารถเกิดขึ้นได้เองโดยไม่มีสัญญาณเตือนให้เรารู้ล่วงหน้า โดยมักเกิดขึ้นจากปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ดังนี้
- นอนหลับไม่เป็นเวลา พักผ่อนไม่เพียงพอ
- มีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน
- ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
- สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- แสงสว่าง แสงจ้า
- ลม หรือมลพิษทางอากาศ
- ตาล้า ตาแห้ง
- เกิดการระคายเคืองที่เปลือกตาด้านใน โรคภูมิแพ้
- การขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารบางชนิด
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- พยายามลดการใช้ Smart phone หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลง
- ลด/หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
- งดการสูบบุหรี่ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พยายามหาสิ่งที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ไม่เครียดกับอาการที่เป็น
- นวดกล้ามเนื้อรอบดวงตา
- ประคบร้อน/อุ่นบริเวณดวงตา ประมาณ 10 นาที
- หากเกิดอาการตาแห้ง หรือเกิดอาการระคายเคืองตา สามารถหยอดน้ำตาเทียมได้
สัญญาณเตือน หากพบควรรีบพบแพทย์ทันที
- มีอาการตา กระตุกติดต่อกันนานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น
- มีตำแหน่งที่เกิดเพิ่มขึ้นจากบริเวณเดิม อาจเป็นที่ตาอีกข้างหนึ่ง เช่น ตาขวากระตุก แล้วตาซ้ายกระตุก หรือเป็นที่บริเวณอื่น ๆ ของใบหน้า
- บริเวณที่เกิดตา กระตุกมีอาการอ่อนแรงหรือหดเกร็ง
- มีอาการบวม แดง หรือมีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากดวงตา
- เปลือกตาด้านบนห้อยย้อยลงมา รบกวนการมองเห็น
- เปลือกตาปิดสนิททุกครั้งที่เกิดอาการตา กระตุก
การรักษาอาการตา กระตุก
หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น และดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ ซึ่งการรักษานั้นจะเป็นไปตามความรุนแรงและดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
1. การให้ยารับประทาน
- ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการและหยุดอาการตากระตุกชั่วคราว เช่น
– ยาลอราซีแพม (Lorazepam)
– ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล (Trihexyphenidyl)
– ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) แต่เนื่องด้วยยาเหล่านี้ยังมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ จึงต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
2. การฉีด Botulinum Toxin หรือ Botox
- การฉีดโบท็อกซ์นั้นได้ผ่านการรับรองให้ใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งที่ควบคุมไม่ได้
- ปัจจุบันเป็นวิธีที่นิยมและแนะนำมากที่สุดที่ใช้ในการรักษาอาการตากระตุก แพทย์จะฉีดยาโบท็อกซ์ลงไปบริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตาที่มีอาการกระตุก เพื่อให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นอยู่ในสภาพอ่อนแรงชั่วคราว ไม่สามารถหดเกร็งตัวได้
- เปรียบเสมือนการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเปลือกตามัดนั้น ๆ และช่วยบล็อคไม่ให้เส้นประสาทส่งสัญญาณไปที่กล้ามเนื้อให้เกิดการกระตุกนั่นเอง
- หลังจากฉีดโบท็อกซ์แล้วอาการตา กระตุกจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- อย่างไรก็ตาม ผลของโบท็อกซ์นั้นจะอยู่เพียงแค่ 3-6 เดือนเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้วอาการตา กระตุกอาจจะกลับมาได้ จึงแนะนำให้กลับไปพบแพทย์อีกครั้งหากยังมีอาการ
จะเห็นได้ว่า อาการตา กระตุกนั้น แม้เป็นอาการที่ไม่อันตราย และส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นและหายไปเองอย่างรวดเร็ว แต่ก็สร้างความรำคาญให้ผู้ที่เป็นได้พอสมควร ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการตา กระตุกที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จึงควรดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยการเกิดตา กระตุกแทน
โดยแนะนำให้ใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเอง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
- พักผ่อนให้เพียงพอ จำกัดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสมาร์ทโฟน
- จำกัดปริมาณการสูบบุหรี่ และปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รวมถึงควรหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดด้วยเช่นกัน เช่น โยคะ ออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้ เป็นต้น
- เท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและโอกาสการเกิดตา กระตุกได้ แต่หากมีอาการต่อเนื่องยาวนาน ดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
ข้อมูล : โรงพยาบาลสมิติเวช
ข่าวที่เกี่ยวข้อง