ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด-19 ระลอก 3 ชุดใหญ่ไฟกระพริบ” ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับความจริงของสถานการณ์และต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด ทั้งนี้ประเทศไทยไม่น่าจะเรียกว่าระลอกสี่ เพราะสามยังไม่ทันจบสิ้น เราคงเรียกระลอกสามภาคพิสดาร ตอนนี้ที่ป่วยหนัก หาเตียงไม่ได้ เข้าไอซียูไม่ได้ ไม่ใช่เดลตาทั้งหมดตามที่คิด แม้สายอัลฟาบ้านๆก็หนัก และจ่อด้วยสายพันธุ์เอปซิลอน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังได้เสนอแนะ 10 ข้อ ดังนี้ 1. การรักษาขณะนี้วิกฤตแล้วมาระยะหนึ่งแล้ว 2.ที่ยังไม่ได้ตรวจ และตัวเลขที่ต้องรอที่บ้านยังมีอยู่มาก 3. วัคซีนที่ใช้ขณะนี้ประสิทธิภาพจำกัดคือ ซิโนแวค หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่หลังฉีดวัคซีนครบหนึ่งเดือนติดไปแล้ว แม้อาการอาจไม่มาก แต่ที่น่ากลัวกลับกลายเป็นคนแพร่เชื้อที่ทรงประสิทธิภาพ 4. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เรียกร้องวัคซีนยี่ห้ออื่นซ้ำต่อจากที่ฉีดไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนไทยที่มีอภิสิทธิ์ แต่เพราะเรากลัวจะแพร่ไปหาคนอื่นอย่างกว้างขวาง
5.การให้ไปรักษาที่บ้าน ต้องทำให้เป็นรูปธรรม “โดยด่วน” 6. จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจรให้เลย ส่วนประชาชนจะหายาฆ่าพยาธิมาใช้วันละหนึ่งเม็ด เมื่อมีอาการแล้วก็ไม่น่าผิด หรือจะควบกับน้ำมันกัญชาของอาจารย์เดชาที่ถูกกฎหมายก็ไม่น่าผิดเช่นกัน 7.เรื่องยาฆ่าพยาธิไอเวอเมคติน ปัจจุบันมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆจากการใช้จริง และประเทศอังกฤษเริ่มบรรจุเข้าในการวิจัยจริงจัง แต่จะรอสรุป และโต้เถียงกันอีกกี่เดือน นี่คือภาวะสงคราม ไม่ใช่วิจัยตีพิมพ์ก่อนแล้วค่อยประกาศ 8.การตรวจคัดกรองที่เข้าถึงได้ยังไม่มี 9.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยได้เรียกร้องการจัดการ
รวมทั้งการจัดหาวัคซีนหลาหลายไปแล้ว คงไม่ต้องทำวิจัยหรืออ่านตำรามาแสดงดูสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ซึ่งเป็นโรคและโลกแห่งความเป็นจริง คงจะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และ10.ชัดเจนแล้วเด็กเล็กเด็กโตติดกันหนาแน่นในประเทศไทย จนพ่อแม่อยู่ในห้องความดันลบ ลูกน้อยที่ติดเชื้อต้องนอนอยู่ในห้องเดียวกัน ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่จะใช้วัคซีนเชื้อตาย ที่ถึงแม้ประสิทธิภาพจะไม่สูงเยี่ยมเทียมเท่ากับวัคซีนชนิดอื่นมาให้เด็กทั้งหมด เพราะที่ประเทศจีนใช้วัคซีนแล้วในเด็กตั้งแต่อายุสามขวบจนถึงผู้ใหญ่ เนื่องจากวัคซีนเชื้อตายก็เป็นเหมือนเช่นวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ทิ้งท้ายด้วยว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งเพ่งพินิจ พิจารณาอยู่บนภูเขาหรือชายหาด ลองใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์มานั่งอยู่ในห้องฉุกเฉิน ลงมาตรวจ ลงมาพูดคุยกับผู้ป่วยและครอบครัว คงจะทำให้เห็นสถานการณ์ได้ดีขึ้นเป็นแน่แท้