วันที่ 12 ตุลาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือจากนายธีรศักดิ์ ภักดีนพรัตน์ ชาว จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นตัวแทนที่พาคนงานเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ 22 คน และที่สวีเดน 27 คน รวมทั้งสิ้น 49 คน เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ ว่า ในเรื่องนี้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ ท่านมีความห่วงใยแรงงานไทยทุกคนเหมือนคนในครอบครัว ซึ่งในวันนี้คนงานได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประเด็น คือ 1) ให้นำเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศไปจ่ายให้คนงานคนละ 30,000 บาท 2) กรมการจัดหางานในฐานะหน่วยที่จัดส่งการส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ ควรกำกับดูแลบริษัทไม่ให้หลอกลวงคนงาน และควบคุมจำนวนแรงงานที่ส่งไปไม่ให้มากเกินความเป็นจริงเพราะทำให้แรงงานมีรายได้กลับมาน้อย 3) ติดตามค่าจ้างค้างจ่ายจากบริษัท อาร์กติก นั้น สำหรับประเด็นที่ 1 กรมการจัดหางานไม่สามารถนำเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศมาจ่ายให้กับคนงานได้ เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ แต่ในการจัดส่งแรงงานไปฟินแลนด์ บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยต้องมีการวางเงินประกันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยคนละ 30,240 บาท โดยวางหลักประกันการเดินทาง (Bank Guarantee) ไว้กับธนาคาร ธกส. ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำมาจ่ายให้กับคนงานที่มีรายได้ไม่ถึงจำนวนเงินประกันรายได้
ประเด็นที่ 2 เรื่องที่บริษัทได้โควตาคนงานเดินทางไปเป็นจำนวนมากนั้น เรื่องนี้มีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ ประเทศปลายทาง กรมการจัดหางาน และกรมการกงสุล ถึงจำนวนแรงงานที่ต้องจัดส่ง โดยในปีนี้ ประเทศต้นทางมีการร้องขอให้ไทยจัดส่งแรงงานมากขึ้น ด้วยเหตุที่ปีนี้ไม่มีแรงงานจากยูเครนเข้าไปเก็บผลไม้ป่า
ประเด็นที่ 3 เรื่องค่าจ้างค้างจ่าย ขณะนี้ทางสถานทูตที่ฟินแลนด์กำลังติดตามอยู่ และ กรมการจัดหางานก็ได้ติดตามบริษัทผู้ประสานงานฝ่ายไทยที่ส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศนี้ด้วย อีกทางหนึ่ง