วารสารมูลนิธิชัยพัฒนา ฉบับธันวาคม 2544 เล่าเรื่องราวห้องเรียนธรรมชาติ ที่ “หมู่บ้านเขาเต่า” “48 ปี” ที่ล่วงมา – จนถึงปัจจุบัน “ตะกาด” บริเวณ “เขาเต่า” กลายเป็นชั้นเรียนธรรมชาติสำหรับเด็กนักเรียนผู้โชคดี เนื้อหาบทความดังกล่าวมีดังนี้
หมู่บ้านเล็กๆ ติดทะเลใกล้เขาที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนเต่า ที่ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีชื่อที่เรียกกันว่า “บ้านเขาเต่า” ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพประมงมาแต่ครั้งรุ่นปู่ย่าตายาย แต่ในสมัยนั้นชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบากกว่าที่เป็นในปัจจุบันมาก ถนนหนทางก็ลำบาก เป็นดินเลนมีหลุมบ่อเต็มไปหมด ไม่มี “น้ำ” สำหรับดื่มกิน ต้องไปหาบมาจาก “ตาน้ำ” ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน และยังไม่มีน้ำสำหรับการปลูกพืชอีกด้วย อีกทั้ง “ดิน” ก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกเลย
ในวันหนึ่งของปี 2496 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปบ้านเขาเต่า โดยรถจี๊บโปโล และรถยนต์พระที่นั่งจมเลนในตะกาด ทุกคนที่ไปในวันนั้นต้องลงมาช่วยกันเข็น ตะกาดนี้ เป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง เป็นที่ที่น้ำทะเลขึ้นมา เมื่อถึงเวลาน้ำลง พื้นที่ตรงนั้นก็กลายเป็นเลน ทำอะไรไม่ได้ แม้แต่ต้นไม้ก็ยังขึ้นไม่ได้ มีเพียงปูตัวเล็กๆ ที่เรียกว่า ปูเปี้ยว อยู่เต็มไปหมด
“หมู่บ้านเขาเต่า” จึงเป็นเสมือนโรงเรียนธรรมชาติแห่งแรก ที่ได้ทรงศึกษาปัญหาทั้งเรื่อง น้ำ และ ดิน โดยทรงเริ่มแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดของชาวบ้านที่นี่เป็นลำดับแรก โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ 60,000 บาท แก่กรมชลประทาน ก่อสร้างทำนบดินปิดกั้นน้ำทะเลไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล ทำให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับชาวบ้านได้ใช้ทั้งการอุปโภค บริโภค เลี้ยงปลา รวมทั้งเพื่อการเพาะปลูกพืชอีกด้วย
“อ่างเก็บน้ำเขาเต่า” แห่งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชดำริเรื่องน้ำ ที่ทรงเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดว่า …น้ำคือชีวิตของประชาชน…
เหตุการณ์ “รถจี๊บโปโลจมเลนในตะกาด” เดียวกันนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ “การพัฒนาปรับปรุงดิน” ที่เสื่อมคุณภาพ ทรงสนพระทัยศึกษาปัญหา “ดินในตะกาด” ของบ้านเขาเต่าที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ดังนั้น จึงทรงให้ผู้เชี่ยวชาญดินชาวต่างประเทศ ตรวจวิเคราะห์ดิน ซึ่งลงความเห็นเมื่อ 40 ปีที่แล้วว่า “เป็นดินที่พืชไม่ขึ้น เป็นดินที่เลวที่สุดในโลก”
บัดนี้ … ในบ่ายของวันที่ 6 ตุลาคม 2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังสถานที่แห่งนี้ อีกครั้งหนึ่ง แต่ในสถานภาพของ “ครู” ผู้เมตตา ทรงสอนเรื่อง ดินและน้ำ และธรณีวิทยาแก่คณะนักเรียนระดับมัธยมต้นและปลายผู้โชคดีของโรงเรียนวังไกลกังวล ที่ไม่อาจจะหาช่วงเวลาอันเป็นมงคลที่ประเสริฐกว่านี้ได้อีกแล้วในชีวิต เพราะ มีครู เป็น “ในหลวง”
“…ถ้าดินอยู่เฉยๆ ไม่ได้ปลูกอะไร มันไม่ทำงาน นี่มันทำงาน จะเห็นเป็นปมๆ ถ้าอยากให้ดีใส่ถั่ว…” พระราชกระแสนี้ เป็นการสอนนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวลเกี่ยวกับดิน ที่บริเวณหน้าโรงเรียนเทศบาลเขาเต่า เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ใครหลายคนคงเห็นและจำได้ดีว่า วันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นครูสอนวิชาว่าด้วย “เรื่องดิน”