การป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ กับโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่าน สะพานคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ สะพานน้ำยกระดับแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่นำน้ำจากคลองลงสู่ทะเลโดยตรง หนึ่งในโครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9
โดย สะพานคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ เป็นสะพานน้ำยกระดับ ที่มีความยาวมากที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย ถูกสร้างขึ้นจากแนวพระราชดำริ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี 2546 ที่พระราชทานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ บางแห่งเป็นพื้นที่แอ่งท้องกระทะ และการขยายตัวของเมือง ทำให้พื้นที่รับน้ำลดลง และการระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยทำได้ยากขึ้น
รัฐบาลจึงได้จัดตั้ง โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิขึ้น และเริ่มลงมือก่อสร้าง สะพานน้ำยกระดับตั้งแต่ปี 2548 แล้วเสร็จเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2553
สะพานน้ำยกระดับ มีความยาวกว่า 10 กิโลเมตร มีลักษณะคล้ายคลองระบายน้ำ ที่ถูกสร้างเป็นสะพานน้ำยกสูงจากถนนสุขุมวิทถึง 6 เมตร เป็นรูปตัวยู ข้ามคลองชายทะเล และถนนสุขุมวิท
ประสิทธิภาพของการใช้งาน ช่วยระบายน้ำต่อจากคลองสำโรงได้สูงสุด 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีเครื่องสูบระบายน้ำ 4 เครื่อง ผลักดันออกทะเล ซึ่งในช่วงมหาอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โครงการนี้ถือว่าเป็นจุดหลักที่ช่วยระบายน้ำ ได้มากถึง 560 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่ากว่าครึ่งหนึ่งของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ส่งผลให้พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ แทบไม่ได้รับผลกระทบเลย เนื่องจากมีคลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ ช่วยในการระบายน้ำ