สถาบันทิศทางไทย ออกแถลงการณ์ วอน นายกฯ ปรับ ครม.

สถาบันทิศทางไทย ออกแถลงการณ์ วอน นายกฯ ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ปรับ ครม. จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยคุณภาพ แก้วิกฤติเพื่อประชาชน เชื่อ ศรัทธาและความเชื่อมั่นจะกลับมา

แถลงการณ์ สถาบันทิศทางไทย  ขอให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ในการปรับคณะรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยคุณภาพแก้วิกฤติเพื่อประชาชน

 

กราบเรียน นายกรัฐมนตรี

  1. การบริหารสถานการณ์วิกฤตินั้น ภาวะผู้นำและแผนที่รัดกุมชัดเจนเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นความจำเป็นที่จะสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนให้ร่วมกันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

  1. ทว่า สิ่งที่กำลังซ้ำเติมสถานการณ์วิกฤติในขณะนี้ก็คือ “ขบวนการปฏิวัติล้มเจ้า” ที่ฉกฉวยวิกฤติโควิดเป็นเงื่อนไข เพื่อล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครอง และนักการเมือง-ข้าราชการประจำ บางกลุ่มที่อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า อาศัยวิกฤติเป็นโอกาส ในการแสวงหาผลประโยชน์ จนทำให้ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงตามลำดับ

 

  1. เป็นที่ประจักษ์ว่า ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังถูกท้าทาย ทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเอง

 

  1. กรณีการบริหารจัดการวัคซีน

4.1 ขณะที่ คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ ยังไม่มีความชัดเจนว่า ตัวเองนั้นจะได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อไหร่ แต่กลับมีการบริหารจัดการวัคซีนที่ไม่เป็นไปในแนวทางที่ควรจะเป็นตามลำดับความสำคัญนั่นคือ

ก) การจัดสรรวัคซีนสำหรับผู้รับมือวิกฤติ(ด่านหน้า)

ข) การจัดสรรวัคซีนในพื้นที่สีแดงเข้ม

ค) การจัดการวัคซีนเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง

และ ง) การสำรองวัคซีน

ซึ่งสามารถบริหารจัดการวัคซีนสู่ประชาชนได้โดยไม่ต้องให้ประชาชนไปแย่งกันลงทะเบียน แต่ผ่านการจัดสรรตามสำมะโนประชากรในพื้นที่ฉุกเฉินได้ทันที ยกเว้นเฉพาะกรณีเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเท่านั้นที่ต้องแจ้งและลงทะเบียน

4.2 แต่ปรากฏในข้อ ข) ว่า ในวันที่ 12 กรกฎาคม2564 จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนสูงสุด 1 ใน 10 จังหวัดแรก คือ ได้วัคซีนมากในลำดับ 8 จำนวน 327,795 โดส มีคนได้ฉีดเข็มแรก 13.5% ได้ฉีดเข็ม 2 6.3% ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยปรากฏเป็นจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มมาก่อน

4.3 อีกทั้งปรากฏในข้อ ง) ตามเอกสารการเจรจาวัคซีนระหว่างบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า กับ กรมควบคุมโรค อันไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า ไม่ได้มีการเตรียมแผนสำรองวัคซีนไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งนำไปสู่การเจรจาต่อมาที่ไม่อาจหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ จนทำให้แผนวัคซีนทั้งหมดรวน จนทำให้วิกฤติเพิ่มขึ้นจำเป็นต้องประกาศ “ล็อคดาวน์” ซ้ำสอง

 

  1. กรณียาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่มีความสำคัญเพราะสามารถบรรเทาสถานการณ์ ลดผู้ติดเชื้อหนักและผู้ป่วยโคม่าได้ หากประชาชนได้รับยาชนิดนี้อย่างทั่วถึง และจะช่วยให้วิกฤติระบบสาธารณสุขทุเลาเบาบางลงได้มากกว่านี้

5.1 มีคำถามถึงความล่าช้าขององค์กรเภสัชกรรมในการเร่งผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เองในประเทศ

5.2 วันที่ 17ก.พ. 2563 ขณะเริ่มวิกฤติโควิด กรมควบคุมโรค โดย กองควบคุมโรคและสุขภาพในภาวะฉุกเฉินได้สั่งยาฟาวิพิราเวียร์เข้ามา 5,000 เม็ด จากบริษัท FUJIFILM Toyama Chemical เป็นจำนวนเงิน 25,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 778,650 บาท คิดราคาเฉลี่ยเม็ดละ      155.73 บาท

5.3 บริษัท FUJIFILM Toyama Chemical เป็นผู้ถึงลิขสิทธิ์ยาฟาวิพิราเวียร์มาตั้งแต่ปี 2557 (2014)  และลิขสิทธิ์ยาได้หมดลงในเดือนสิงหาคม ปี 2563 (2020)

5.4 การสิ้นสุดของลิขสิทธิ์ยาตัวนี้ ทำให้ประเทศอินเดียซึ่งเผชิญวิกฤติโควิดอย่างหนักได้เร่งผลิตยาฟาวิพิราเวียร์จำหน่ายเองในประเทศ แม้บริษัท FUJIFILM จะพยายามอ้างลิขสิทธิ์ในการผลิต “เม็ด” ยาก็ตาม ในปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ที่อินเดียผลิตสามารถสั่งซื้อได้เป็นกล่องผ่านตลาดออนไลน์ในราคาตกเม็ดละ 12 บาท และในการซื้อในปริมาณที่มากก็จะได้ราคาต่อเม็ดที่ลดลงไปอีก

5.5 ในประเทศไทยตัวแทนของบริษัท FUJI FILM พยายามที่จะอ้างถึงลิขสิทธิ์ของการผลิตเม็ดยา  ซึ่งเรื่องตกค้างอยู่ที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา  ทางบริษัทFUJI FILM ได้ยื่นเรื่องลิขสิทธิ์ในกระบวนการผลิต ตั้งแต่ 4 กันยายน 2560  จนกระทั่ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ตอบปฏิเสธลิขสิทธิ์ เพราะกระบวนการผลิตนั้นไม่ได้มีอะไรที่เป็นสิ่งที่ขึ้นทะเบียนได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท FUJI FILM ได้ขอยืดเวลาไปอีก 200 วัน จนไปถึงสิงหาคม 2564

5.6 สื่อต่างประเทศ ให้ความเห็นว่าจริง ๆ แล้ว ประเทศไทยมีทางออกอีกทางคือ สามารถใช้ compulsory licensing เพื่อทำให้สามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์จำหน่ายได้เองภายในประเทศ

5.7 วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 องค์การเภสัชกรรม ได้เริ่มผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เองในประเทศ โดยสามารถผลิตได้เดือนละ 2 ล้านเม็ด และจะเริ่มกระจายให้ผู้ป่วยได้ ภายในเดือนสิงหาคม

5.8 ก่อนหน้านั้น 1 วัน วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ เข้ามาเพิ่มอีก 16 ล้านเม็ด โดยจะกำหนดส่งมอบ 4 งวด คือ

  1. วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 : ส่งมอบ 3.5 ล้านเม็ด
  2. วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 : ส่งมอบ 3.1 ล้านเม็ด
  3. วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 : ส่งมอบ 5.5 ล้านเม็ด
  4. วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 : ส่งมอบ 4 ล้านเม็ด

5.9 ทั้งนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ยืนยันกับ สถาบันทิศทางไทย ว่า การผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เองในประเทศมีต้นทุนตกเฉลี่ยเพียงเม็ดละ 8-10 บาทเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับราคาจำหน่ายของยาชนิดเดียวกันที่อินเดียผลิตขาย คือตกเฉลี่ยเม็ดละ 12 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ไม่ได้มีรายงานว่า มีการสั่งซื้อยาชนิดนี้ 16 ล้านเม็ดมาจากบริษัทใด? ในราคาเท่าใด?

5.10  ซึ่งหากไทยมีการดำเนินการผลิตยานี้เองในประเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ดังกรณีที่ อินเดียตัดสินใจผลิตยาตัวนี้เองหลังตัวยาหมดลิขสิทธิ์ โดยไม่มีข้อติดขัด ความล่าช้าใด ๆ ก็จะสามารถช่วยลดการนำเข้ายา ลดงบประมาณในการจัดซื้อยาได้ รวมถึงสามารถช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อในระยะแรก มิให้มีอาการรุนแรงและลดการครองเตียงในระบบสาธารณสุขได้ดีขึ้น

5.11 ในทางตรงข้าม การไม่เร่งดำเนินการผลิตยานี้อย่างเร่งด่วน ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า มีความต้องการสูงถึงวันละ 300,000 เม็ด เดือนละ 10 ล้านเม็ด ก็อาจทำให้ตั้งข้อสงสัยได้ว่า มีการใช้ภาวะฉุกเฉิน เพื่อเป็นข้ออ้างในการจัดหา จัดซื้อยาด้วยความจำเป็นในราคาที่สูง และมีส่วนต่างจากต้นทุนที่ผลิตเองในประเทศถึง 12 เท่าตัวได้หรือไม่?

 

  1. ไม่นับกรณีที่มีคนใกล้ตัวของรัฐมนตรีบางคน ฝ่าฝืนคำสั่งของ ศบค. ไปเที่ยวสถานบริการในย่านทองหล่อ จนมีส่วนให้เกิดการระบาดในระลอกใหม่ขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทางกฎหมายกับบุคคลกลุ่มดังกล่าว

 

  1. สิ่งเหล่านี้จะมาจากความล่าช้าในระบบราชการ หรือการบริหารที่ผิดพลาดหรือสาเหตุอื่นใดก็ตาม พรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทย ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งไปได้ ไม่นับถึงปัญหาอื่น ๆ ในพรรคร่วมฯ โดยเฉพาะ การตรวจสอบเรื่องการประมูลรถไฟทางคู่ ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนต่อข้อสงสัยว่า จะมีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่?

 

  1. แต่ไม่เพียงเท่านั้น แม้พรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีโดยการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกมาท้าทายนายกรัฐมนตรีเสียเอง ดังที่ พรรคพลังประชารัฐ โดยเลขาธิการพรรคได้ออกมาแถลง “ตัดหน้า” เรื่องงบประมาณเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น และการเลื่อนซื้อเรือดำน้ำออกไปอีกควรเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรออกมาแถลงให้ประชาชนรับทราบด้วยตนเองเท่านั้น

 

  1. สิ่งเหล่านี้ นำไปสู่ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการกับวิกฤติได้ทันท่วงทีและกลายเป็นเงื่อนไขความล้มเหลวของรัฐบาลให้ “ขบวนการปฏิวัติล้มเจ้า” นำไปเคลื่อนไหวเพื่อปลุกระดมให้ประชาชน ที่คับข้องใจและได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างออกมาต่อต้านรัฐบาล ตัวนายกรัฐมนตรี และสถาบันพระมหากษัตริย์ ในที่สุด

 

  1. เพื่อขจัดอุปสรรคและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่อาจจัดการแก้วิกฤติได้อย่างเด็ดขาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถแสดงบทบาทในฐานะผู้นำของท่านได้มากกว่าการบ่นเปรย ๆ ผ่านสื่อมวลชนว่า “ถ้าท่านจะออกจากผมก็แล้วแต่ ผมจะทำงานของผมต่อ ผมไม่ทิ้งคุณ แต่คุณจะทิ้งผมไปก็ตามใจ”

 

  1. ถึงเวลาแล้วที่ นายกรัฐมนตรี จะยุติการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และแสดงภาวะผู้นำโดยการปรับคณะรัฐมนตรี เอารัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้วิกฤติออกจากการร่วมคณะรัฐมนตรี นำเอาคนที่มีความรู้ ความสามารถจริงเข้ามาแทน

 

  1. เพื่อร่วมแก้วิกฤติให้ลุล่วง โดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยเรื่องเสียงสนับสนุนของฝ่ายรัฐบาล และดำเนินการนำประเทศฝ่าวิกฤติโดยเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพื่อนำประเทศให้พ้นวิกฤติไปให้ได้ในระยะเวลาที่เหลืออยู่ ก่อนที่จะยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนในเวลาต่อไป

 

  1. สถาบันทิศทางไทย จึงขอให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ในการปรับคณะรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยคุณภาพ โดยเชื่อว่า การตัดสินใจอย่างเด็ดขาด แผนการจัดการที่รอบคอบรัดกุม และการขจัดอุปสรรคที่เกิดจากนักการเมืองและข้าราชการประจำบางส่วน จะดึงให้การแก้วิกฤติกลับมาในทิศทางที่ถูกต้อง และประชาชนจะเห็นว่า นายกรัฐมนตรี เอาประชาชนเป็นที่ตั้งมากกว่าการอยู่รอดของตนเองทางการเมือง ซึ่งจะทำให้ศรัทธาและความเชื่อมั่นที่เคยคลอนแคลนลงไปกลับมาเป็นดังเดิม

 

  1. ด้วยบารมีของพระสยามเทวาธิราช ดวงพระวิญญาณของบูรพกษัตริย์ไทยทุกพระองค์ วิญญาณแห่งวีรชนทุกท่านและพลังใจของพสกนิกรและปวงราษฎร์ทุกคนที่เคยเสียสละเพื่อปกบ้านป้องเมืองให้ชาติผ่านพ้นวิกฤติในทุกครั้ง จนช่วยให้ประเทศชาติและประชาชนไทยได้ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

ด้วยจิตคารวะ

 

ทั้งนี้ ในท้ายแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ได้มีการลงชื่อด้วยกัน 4 ท่านคือ

นายสนธิญาณ  ชื่นฤทัยในธรรม  ประธานกรรมการสถาบันทิศทางไทย  , ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการสถาบันทิศทางไทย , ดร.เวทิน ชาติกุล  ผู้อำนวยการสถาบันทิศทางไทย  และ  รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา ประธานยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

บึ้มสนั่นกลางดึก ชาร์จรถ 3 ล้อไฟฟ้า เกิดไฟฟ้าลัดวงจรลามไหม้ร้านของชำ หวิดวอดทั้งหลัง
กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบนอากาศหนาวในตอนเช้า อุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย เตือนภาคใต้มีฝนตกบางแห่ง
"กรมโยธาฯ" จับมือ "คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล" ลงนาม MOU ช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการบริจาคโลหิต
“ไทด์” แฉลึก! ยศใหญ่โทรปิดเกม สั่งย้าย “แตงโม” เข้านิติเวช รพ.ตำรวจ
เมียไรเดอร์ เปิดใจเสียงสั่น กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังรู้ข่าว หนุ่มอินเดียซิ่งเก๋งได้ประกันตัว ลั่น ‘คนมีเงินมันยิ่งใหญ่’
นายกฯ เปิดงาน Thailand Reception เชิญชวนสัมผัสเสน่ห์อาหารไทย ชูศักยภาพเศรษฐกิจ
จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น