วันที่ 14 ต.ค.65 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ว่า ผมมีข่าวดี ที่เป็นความคืบหน้า สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” โดยล่าสุด ก็ได้มีการกำหนดให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ คิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) แบบ “ลดต้น ลดดอก” ซึ่งจะต้องคิดดอกเบี้ยจาก “เงินต้นคงเหลือ” ในแต่ละงวด ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยแบบ “เงินต้นคงที่” (Flat rate) แบบเดิม ที่ทำให้ลูกค้า/ผู้ที่เช่าซื้อเสียเปรียบบริษัทเช่าซื้อ หรือลีสซิ่ง นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อใหม่ ได้แก่ (1) รถยนต์ใหม่ : คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 10% ต่อปี (2) รถยนต์ใช้แล้ว : คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี (3) รถจักรยานยนต์ : คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 23% ต่อปี และสำหรับผู้ที่สามารถปิดบัญชีได้ก่อน ก็จะต้องให้ “ส่วนลด” กับผู้เช่าซื้อด้วย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว (หรือวันที่ 11 มกราคม 2566) ครับ
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและพยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง มีหนี้สินติดตัว ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ผลักดันให้การเปลี่ยน “ฐานคำนวณดอกเบี้ย” จากเดิมที่คิดดอกเบี้ยจากยอด “เงินต้นคงค้างทั้งหมด” มาเป็นการคิดดอกเบี้ยจาก “เงินต้นเฉพาะเดือนที่ผิดนัดชำระ” เท่านั้น หลักการนี้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การคิดดอกเบี้ยในประเทศไทย เป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชนที่เป็นหนี้ ขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะบรรดาเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา มนุษย์เงินเดือน คนหาเช้ากินค่ำ ที่มีความจำเป็นจะต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อมาใช้ดำรงชีวิต และเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ตลอดจนกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้ชำระดอกเบี้ยลดลงอีกด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขหนี้ครัวเรือนให้ประชาชน เราได้เดินสายไปทุกจังหวัด ทั่วประเทศ สามารถลดปัญหาหนี้สินประชาชนได้ กว่า 200,000 ราย มูลหนี้มากกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชน-ลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง