บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ระบุว่า ประเทศไทยกำลังปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านภายใต้บริบทความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลกที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นตัวแปรที่สำคัญ เจตนารมณ์หลักของการรวมธุรกิจของทรูและดีแทคคือการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแบบก้าวกระโดด และการกำหนดยุทธศาสตร์ให้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียม เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
ทั้งทรูและดีแทค มีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่แรกในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำสู่ประเทศไทย เพื่อแข่งขันในอาเซียนและภูมิภาคอื่น การควบรวมกิจการจะช่วยส่งเสริมเรื่องการขยาย 5G และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและนโยบายประเทศไทย 4.0 ทั้งสองฝ่ายจะพลิกโฉมประเทศไทยสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านการนำขีดความสามารถและทรัพยากรมาสร้างการเติบโตให้กับประเทศ
ดังนั้น เราจึงขอให้ กสทช. พิจารณาถึงความได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภคกับการพัฒนากิจการโทรคมนาคมตามหลักสากล รวมถึงให้ทรูและดีแทคมีส่วนร่วมกับ กสทช. ในขั้นตอนการควบรวมกิจการ เพื่อให้มั่นใจว่าการควบรวมจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค
หลักการสำคัญ 5 ข้อ ของ บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยีเพื่อทุกคน
1. บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี จะให้บริการสู่ความเป็นเลิศด้านดาต้า
การควบรวม ทรู-ดีแทคสู่การเป็น บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี ทำให้การแข่งขันในตลาดยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง ในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินลงทุนและทรัพยากรมหาศาลเพื่อการแข่งขัน การมีผู้ให้บริการมากขึ้นอาจไม่ได้ทำให้ตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีผู้ให้บริการที่อ่อนแอกว่าและไม่สามารถพัฒนาคุณภาพเพื่อให้ทันกับผู้นำตลาด การควบรวมกิจการจะนำมาสู่การแข่งขันที่เหมาะสมกันยิ่งขึ้นระหว่างบริษัทใหม่และผู้นำตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันยิ่งขึ้น เรื่องราคาค่าบริการและคุณภาพการบริการในการดึงดูดลูกค้านอกจากนี้ ภายใต้การกำกับและดูแลตามกฎระเบียบจากหน่วยงานรัฐ จะทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยยังมีราคาในการให้บริการดาต้าที่ถูกติดอันดับโลกอย่างต่อเนื่อง และทุกคนเข้าถึงได้
ทั้งนี้ องค์กร Cable.co.uk ได้ทำการสำรวจค่าบริการใช้งานดาต้า 1GB จากประเทศทั่วโลกในปี 2565 พบว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้มีค่าบริการดาต้าที่ถูกที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะมีต้นทุนคลื่นความถี่สูงที่สุดในโลกก็ตาม โดย Cable.co.uk ยังมีรายงานสำรวจอัตราความเร็วอินเทอร์เน็ตจากทั่วโลกเมื่อปี 2564 พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นที่ทำความเร็วได้ดี สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตดาวน์โหลดความเร็วเฉลี่ยประมาณ 54 Mbps
ผู้ใช้มือถือชาวไทย ไม่ว่าจะมีรายได้มากหรือรายได้น้อย อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัด นั้นสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วคุณภาพสูง เพื่อใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ ด้วยราคาที่เข้าถึงได้และไม่แพง และจะยังคงเป็นเช่นนี้หลังจากการควบรวมกิจการ โดยบริษัทใหม่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายซึ่งเหมาะสมกับความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าทุกคนในราคาที่เข้าถึงได้