“สภาผู้บริโภค” เมินผิดกม.ใช้ข้อมูลกสทช.หลุดรั่วอ้างค้านผนึก TRUE-DTAC

"สภาผู้บริโภค" เมินผิดกม.ใช้ข้อมูลกสทช.หลุดรั่วอ้างค้านผนึก TRUE-DTAC

กลายเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ ต่อเนื่องจากการที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาเดินหน้ากดดันให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติแห่งชาติ (กสทช.) คัดค้านการควบรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยการนำประเด็นเรื่องผลการศึกษาของ บริษัท SCF Associates Ltd. ที่ทาง กสทช.ว่าจ้างให้จัดทำข้อมูล เรื่องผลกระทบของการควบรวม TRUE-DTAC มาเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยอ้างว่าผลการศึกษาดังกล่าว ชี้ชัดถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น

เพราะต่อมา นายไตรรงค์ ตันทสุข นักกฎหมาย ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ กับพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง เพื่อนำไปสู่กระบวนการสอบสวน เอาผิดผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้งหมด จากการเผยแพร่ผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นความผิดฐานเปิดเผยความลับทางราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 , 86 , 164 และบิดเบือนข้อความจริงหรือนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พศ.2550 มาตรา 14

เนื่องเพราะก่อนหน้านั้น นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ระบุกับ TOP NEWS เมื่อวันที่ 14 ต.ค.65 ว่า ” ไม่ทราบทางสภาองค์กรของผู้บริโภคเอาข้อมูลมาจากไหน เพราะตนเอง ยังไม่ทราบผลการศึกษา และยังไม่ได้รับเอกสารใด ๆ ต้องรอเจ้าหน้าที่สรุปข้อมูลมาให้”

วันนี้ (18 ต.ค.65) สภาองค์กรของผู้บริโภค นำโดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ นายศราวุฒิ ประทุมราช ประธานกรรมการ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดรายงานที่ปรึกษาต่างประเทศ พิสูจน์ความโปร่งใส เพื่อเพิ่มทางเลือกและผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการทำธุรกิจ และบริษัทจะต้องมีธรรมาภิบาลด้วยเช่นกัน โดยมี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธานบอร์ด กสทช. เป็นผู้รับมอบหนังสือ

 

 

โดยพ.ต.อ.ประเวศน์ ได้มีการระบุถึงกรณีที่มีทนายความประชาชนเดินทางไปยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อกล่าวโทษเอาผิดผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้งหมด จากการเผยแพร่ผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นความผิดฐานเปิดเผยความลับทางราชการ ที่สน.ห้วยขวาง เมื่อวานนี้ (17 ต.ค.65) ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดใดๆ โดยยืนยันว่าเอกสารที่ส่งมายังกสทช.ทุกฉบับยังไม่หลุดออกไป แต่อาจจะมีเพียงบางประเด็นที่ปรากฏเป็นข่าวซึ่งตนเองไม่ทราบว่า ปรากฏออกไปได้เช่นไร ส่วนข้อมูลที่หลุดออกไปนั้น ตามกฎหมาย สามารถที่จะเปิดเผยได้เพียงบางประเด็นเท่านั้น ส่วนกรณีที่ทนายความได้แจ้งความกล่าวโทษนั้น ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบหาที่มาเอกสารหลุด ขณะเดียวกันในส่วนของเอกสารที่หลุดออกไป จะต้องว่ากันตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารว่าส่วนไหนเป็นความลับที่ไม่ควรเปิดเผย หรือส่วนไหนไม่เป็นความลับสามารถเปิดเผยได้ ขึ้นอยู่กับประเด็นที่ถูกเปิดเผย

ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีที่ทางทนายความได้ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด เอกสารผลการศึกษาที่ส่งมาจากต่างประเทศถึงถูกหน่วยงานนำไปเผยแพร่ก่อนกสทช. พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพราะหากเอกสารยังไม่ถึงกสทช. ก็ไม่ทราบเช่นกันว่า เอกสารหลุดอย่างไร ส่วนจะหลุดก่อนกสทช.หรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่ยืนยันไม่ได้มีเอกสารหลุดจากกสทช.แน่นอน โดยขณะนี้ ทางด้านคณะกรรมการได้มีการรวบรวมทุกความเห็นทุกด้านในการควบรวมธุรกิจครั้งนี้

ส่วนกรณีที่เอกสารหลุดออกไป จะสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนหรือไม่ พ.ต.อ.ประเวศน์ ระบุว่า ข้อมูลที่ออกไป จะเป็นความเห็นของแต่ละหน่วยงาน หรือสถาบัน แต่ไม่ใช่ความเห็นของกสทช. ยืนยันไม่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นกสทช. เพราะเป็นข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก ส่วนข้อมูลที่หลุดออกไปนั้น ขณะนี้ยังพิสูจน์ ไม่ได้ว่าหลุดจาก กสทช. จริงหรือไม่

ด้านน.ส.สารี กล่าวถึงกรณีที่ทนายความได้เดินทางไปกล่าวโทษที่ สน.ห้วยขวาง ว่า ในการกล่าวโทษมีด้วยกัน 2 ประเด็น คือ เรื่องเอกสารหลุด และตนเองมองว่า เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน และชัดเจนว่าวันนี้ สภาองค์กรฯ ได้เดินทางมายื่นหนังสือ ให้กสทช. เปิดเผยรายงานทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบัน กสทช. ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ควรจะเปิดเผย อาทิ รายงานคณะอนุกรรมการ 4 คณะ /รายงานของที่ปรึกษาต่างประเทศ จึงคิดว่า มาตรา 59(5) ของของพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2553 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า กสทช. ต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ต่อสาธารณะ

 

 

ส่วนประเด็นการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ มองว่า เป็นประเด็นที่เป็นข้อมูลที่นำมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ และเป็นข้อมูลหลุด เชื่อว่าสื่อมวลชนรับทราบดี และส่วนใหญ่จะเป็นสื่อมวลชนที่เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลหลุดเหล่านั้น อาทิ เรื่องของ 14 มาตรการ ที่สภาฯ นำมาเผยแพร่นั้น เป็นช่วงหลังที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้ว พร้อมย้ำว่า ในส่วนของ 14 มาตรการของ กสทช. ที่หลุดออกมานั่น ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค จากการที่กสทช.นำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้บริโภคและลดการผูกขาด และเป็นมาตรการเดิมที่กสทช. มีอยู่แล้ว จึงมองว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลสาธารณะที่เผยแพร่อยู่ทั่วไป

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ ในการทำหน้าที่ของ สภาฯ ได้มี มาตรา 14 ของพ.ร.บ.จัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ที่การเปิดเผยข้อมูลหรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใด เป็นไปโดยสุจริต สภาฯไม่มีความผิด และพ้นผิดตามมาตรา 14 พร้อมมองว่าข้อมูลที่นำมาเปิดเผยเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ และเป็นสิ่งที่กสทช.จะต้องนำมาเปิดเผยกับสาธารณะชน ซึ่งการควบรวมธุรกิจนั้น จะทำให้มีผู้ประกอบการเหลือเพียง 2 ราย ซึ่งอาจจะมีการฮั้วกัน ทำให้สุดท้ายผู้บริโภคจะต้องเป็นผู้ที่เสียประโยชน์จากค่าบริการที่เพิ่มขึ้น

ส่วนการคัดค้านการควบรวมธุรกิจนั้น น.ส.สารี ระบุว่า ไม่ได้เกรงว่าจะมีการผูกขาดธุรกิจ แต่ได้มีงานวิจัยที่ชัดเจนออกมา ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาต่างประเทซ TDRI นักวิชาการอิสระ 101 world รวมถึง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีงานวิจัยที่ตรงกันทั้งหมด ถึงผลกระทบกับผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นถึง 244.5% หรือต้องจ่ายค่าโทรศัพท์ที่เพิ่มขึ้นถึง 244.5% จะส่งผลต่อเงินของประชาชน และคนจน คนชายขอบจะเข้าไม่ถึงบริการที่จำเป็น เป็นการลดทางเลือกและละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอย่างชัดเจน อีกทั้งงานวิจัยยังระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับจีดีพีของไทยประมาณ 1.99% หรือ 3.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค จึงต้องการให้กสทช.ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีหากมีการควบรวมธุรกิจ กสทช. มีอำนาจในการกำหนดหรือ ควบคุมเพดานราคาไม่ให้สูงขึ้นได้ ในส่วนของสภาองค์กรฯ ได้มีมุมมองอย่างไร น.ส.สารี ระบุว่า ในส่วนของเพดานราคาไม่ได้มีความหมาย เพราะขณะนี้ กสทช. ได้ใช้เพดานราคาจากค่าเฉลี่ยที่บริษัทแจ้ง ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ได้ โดยกสทช. จะต้องใช้ตัวเลขของผู้ประกอบการ ทำให้ราคาที่ผู้บริโภคจ่ายไม่เคยน้อยกว่าราคาเพดานสูงสุดเลย จึงเห็นความล้มเหลวในการกำกับราคาของ กสทช. พร้อมมองว่า ในส่วนของเงื่อนไขการกำกับราคาของกสทช. ไม่ได้ดีตั้งแต่ต้น เพราะเป็นเงื่อนไขที่ไม่เป็นประโยชน์ หากนำมาใช้อีกในการควบรวมก็จะทำไม่ได้จริง

ผู้สื่อข่าวถามถึงในส่วนของข้อมูลที่หลุดออกมา ได้สร้างความกังวลให้หรือไม่ น.ส.สุภิญญา ระบุว่า ในฐานะอดีตกสทช. สมัยที่ตนเองทำงานอยู่ ได้มีการนำวาระการประชุมออกมาเปิดเผยก่อนการประชุม และได้นำข้อมูลบางส่วน รวมถึงผลงานวิจัย และข้อเสนอมาเปิดเผย เนื่องจากเป็นหน้าที่กสทช.ที่จะต้องนำมาเปิดเผย และนำออกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ

 

 

น.ส.สุภิญญา ระบุว่า เอกสารที่หลุด ออกมานั้น ทางกสทช. ไม่ได้มีการประทับตรา “ลับ” ตั้งแต่แรก ดังนั้นจากประสบการณ์การทำงานกสทช. แสดงว่า เอกสารใดที่ไม่ประทับตราลับ แสดงว่า เป็นเรื่องทั่วไป เปิดเผยตามกฎหมายได้ ส่วนเรื่องไหนที่ประทับตราลับจริง และกระทบความลับราชการ จะมีการประทับตราลับตั้งแต่แรก

พร้อมย้ำว่า ในส่วนของเอกสารที่หลุดออกมานั้น ตนเองไม่แน่ใจว่าหลุดออกมาจากส่วนไหน แต่นัยสำคัญคือ เอกสารชุดนี้ ไม่ได้เป็นความลับราชการ เป็นเพียงรายงานวิจัย ซึ่งกสทช. มีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างผ่านเว็บไซต์ชัดเจน อีกทั้งกฎหมาย กสทช. จะต้องมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยชิ้นนั้น ว่าคุ้มค่ากับราคาที่ว่าจ้างหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ กสทช.ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเอกสารจึงหลุดออกมา ดังนั้น กสทช. จึงควรเปิดเผยข้อมูลวิจัยและเอกสารทุกฉบับออกมา อีกทั้ง ข้อมูลที่หลุดออกมาเป็นเอกสารที่กสทช. จะต้องเผยแพร่อยู่แล้ว ตนเองจึงไม่เข้าใจว่า จะต้องแจ้งความทำไม แต่ควรแจ้งกสทช. เหตใดไม่เปิดเผยข้อมูลเพราะประชาชนอยากทราบข้อมูลก่อนที่จะลงมติวันที่ 20 ต.ค.นี้

ขณะเดียวกัน ในส่วนของมาตรการ 14 ข้อที่มีการระบุว่า เป็นข้อมูลที่หลุดออกมา แสดงว่า มาตรการทั้ง 14 ข้อดังกล่าวยังไม่ได้มีการทำประชาพิจารณ์ต่อสาธารณะ กสทช. จะทำการลงมติ ไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายกสทช. ได้ระบุไว้ว่า เรื่องใดที่ส่งผลกระทบกับประชาชนจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็น ดังนั้น เอกสาร ที่ผ่านการทำประชามติจึงไม่ถือเป็นเอกสารหลุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกัน พร้อมอยากให้กสทช. ออกมาให้ข้อมูลทั้งหมด และไม่เห็นด้วยที่มีการแจ้งความที่เกิดขึ้น

น.ส. สุภิญญา ได้วิเคราะห์สาเหตุที่กสทช ไม่เปิดเผยข้อมูลว่า คณะกรรมการฯอาจจะต้องการที่จะลงมติก่อนการเผยแพร่ข้อมูล อีกทั้ง เมื่อค้นหาคำว่าควบรวม ในเว็บไซต์ กสทช. ก็แทบจะไม่พบข้อมูลใด รวมถึงข้อมูลสำคัญก็หายไปอีกด้วย จนอาจทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นได้ พร้อมอยากให้กสทช. แถลงความชัดเจน โดยไม่ว่ากสทช.จะมีมติเช่นไร พร้อมขอให้คณะกรรมการทุกท่านเปิดเผยความคิดเห็นในการลงมติด้วย ให้ได้มาตรฐานตามต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ในวันที่ 20 ต.ค. ควรจะมีการลงมติหรือควรจะเลื่อนออกไปก่อน น.ส.สุภิญญา ระบุว่า ถ้ากสทช.รอบคอบพอ ควรนำมาตรการ 14 ข้อ มาชี้แจงว่าจริงหรือไม่จริง และนำประชาพิจารณ์ เพื่อให้สังคมรับทราบก่อน เพราะหากดึงดันต่อไปอาจทำให้ถูกฟ้องร้องได้

ด้านน.ส.สารี ระบุว่า กสทช. จะต้องยึดหลักตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 ที่ให้ กสทช. รักษาประโยชน์สูงสุดของประชาชน ดังนั้น หากวันที่ 20 ต.ค. มีการลงมติ และตนเองมองว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ประชาชนยังสุขสบายดี ดังนั้น หากมีการลงมติให้ควบรวม ประชาชนจะต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้นทันที ทำให้ประชาชนเดือดร้อน จึงอยากให้กสทช. รักษาผลประโยชน์ของประชาชน แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น สภาฯ จะทำหน้าที่ ในกานดำเนินการทางคดีแน่นอน

วนเรื่องเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่รับฟังได้ และกสทช. พิจารณาให้มีการควบรวม จะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เป็นประโยชน์หรือไม่ อยากให้กสทช. มีขั้นตอนพิเศษรับฟังความคิดเห็นของสภาฯด้วย

พร้อมคาดหวังว่าการดำเนินการจะไม่แล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ พร้อมให้ผู้ประกอบการทำการสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

 

 

ประเด็นที่ต้องพิจารณา ก็คือ ทำไม สภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องรุกเร้าให้กสทช. เปิดเผยผลการศึกษาของ บริษัท SCF Associates Ltd. ทั้ง ๆ ที่ หน้าเพจเฟสบุ๊ก ของ น.ส. สารี อ๋องสมหวัง และ สภาองค์กรของผู้บริโภค มีการแสดงข้อมูลให้เชื่อได้ว่า ข้อมูลการศึกษาของ บริษัท SCF Associates Ltd. มีการถูกนำส่งให้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ในลักษณะการหลุดรั่วของเอกสาร ไม่ต่างกับชุดข้อมูลที่ บอร์ด กสทช. จะนำใช้ประกอบการพิจารณาแล้ว ตั้งแต่แรก และเป็นชุดข้อมูลสำคัญที่ บอร์ด กสทช. ใช้เป็นข้ออ้างเลื่อนการพิจารณาจากวันที่ 12 ต.ค. เป็น 20 ต.ค. เพื่อรอผลการศึกษาจากต่างประเทศชุดนี้

เริ่มจาก 12 ต.ค. 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค โพสต์ข้อความว่า “หลังควบรวม คนจน คนชายขอบจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” เปิดเผยผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศชี้ว่า หลังควบรวม ผู้ให้บริการที่เหลือสองค่ายจะเน้นกลุ่มรวยในเมือง และชุมชนหนาแน่น พื้นที่คนจนและคนชายขอบจะถูกมองข้าม กลุ่มผู้บริโภค นักการเมือง และอดีต กสทช. จับมือกันไม่รับเงื่อนไข 14 ข้อ ผลักดัน “ล้มการควบรวม” หลังจากที่ กสทช. มีมติเลื่อนการพิจารณาดีลทรู – ดีแทค ไปวันที่ 20 ต.ค. นี้!

ไม่เท่านั้น น.ส. สารี อ๋องสมหวัง ยังรับรองถึงผลที่เกิดขึ้น ว่า มีเอกสารหลุดรอดจาก กสทช. จริง ด้วยการโพสต์ผ่านเฟสส่วนตัว ข้อความบางส่วนระบุถึง 5 ข้อผลเสีย จาก รายงานการศึกษาที่ กสทช. จ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ SCF Associates Ltd. ด้วยงบประมาณสิบล้านบาท ในเรื่องผลกระทบของการควบรวมค่ายมือถือทรู-ดีแทค

 

และจากการที่ นายไตรรงค์ ตันทสุข นักกฎหมาย ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ กับพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง ให้มีการตรวจสอบการหลุดรอด เอกสารทางราชการ และยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อรอการประชุมของบอร์ดกสทช. ปรากฎว่าในเพจเฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เลือกตอบโต้กรณีที่เกิดขึ้น ว่า “เอกสารรายงานที่ปรึกษาต่างประเทศจาก บริษัท SCF Associates Ltd. เป็นเอกสารที่ประชาชนเป็นเจ้าของตามกฎหมาย

เนื่องจากเงินจัดจ้างเป็นเงินจากผลประโยชน์สาธารณะที่ กสทช. บริหาร และ กสทช. มีหน้าที่เปิดเผยตามมาตรา 59 (5) ของพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2553
.
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค มีอำนาจตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 โดยได้กำหนดอำนาจของสภาองค์กรของผู้บริโภคไว้ ดังนี้ มาตรา 14 (2) สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้

มาตรา 14 (8.) กำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคมีอำนาจจัดให้มีหรือรวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันจะเป็นประโยชน์ต่อ ผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ทั้งยังระบุอีกว่า การดำเนินการตาม 14 (2) หรือ 14 (8.) ถ้าเป็นการกระทำโดยสุจริต ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคพ้นจากความรับผิด

ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค และ ในฐานะอดีต กสทช. ทวิตข้อความว่า
ทำไมต้องมีการไปแจ้งความเรื่องการเผยแพร่เอกสารงานวิจัยที่ กสทช.ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้วย อันนี้ถือเป็น open data ที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่ความลับทางราชการ

 

 

ประเด็นต้องพิจารณาต่อเนื่อง ก็คือ กรณีการหลุดรอดข้อมูลจาก กสทช. และสร้างผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณา เรื่องควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก โดยก่อนหน้านั้นเคยมีปัญหาการหลุดรั่วข่าวภายใน กสทช. โดยอ้างว่า อนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค จำนวน 4 คณะ ที่บอร์ดกสทช. มีมติแต่งตั้งเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 ประกอบด้วย

1. อนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง

2. อนุกรรมการด้านกฎหมาย

3. อนุกรรมการด้านเทคโนโลยี

และ 4. อนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์

ก่อนบอร์ด กสทช. มีความเห็นให้เพิ่มคณะทำงานอีก 2 ชุด เพื่อประสานงานกับอนุกรรมการฯทั้ง 4 ชุด โดยมีนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการกสทช.และรักษาการเลขาธิการกสทช.ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน และ คณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันผลกระทบจากกรณีการรวมรวมธุรกิจด้วย ระบุว่าคณะอนุกรรมการฯ มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC

ทำให้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) ต้องออกเป็นเอกสารข่าวเผยแพร่ ว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยระบุ สำนักงาน กสทช. ขอแจ้งให้ทราบว่าข่าวดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากการสรุปผลการพิจารณาของ คณะอนุกรรมการฯ ทั้งสี่ชุดยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโดยสำนักงานฯ ซึ่งจำเป็นต้องประมวลข้อมูลจำนวนมากทั้งจากการประชุมของคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด การจัดทำโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆและรายงานผลการศึกษาจากที่ปรึกษาทางวิชาการที่สำนักงาน กสทช.ได้มีการจัดจ้างไป

ก่อนจะมาเกิดปัญหาผลการศึกษาของ ผลการศึกษา ของ บริษัท SCF Associates Ltd. ที่ได้รับการว่าจ้างจากกสทช. หลุดรอดไปถึง สภาองค์กรของผู้บริโภค และนำมาใช้กดดันการทำหน้าที่ของบอดร์ดกสทช. ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 20 ต.ค. 2565 ว่าจะยึดผลประโยชน์ประเทศ หรือ เดินตามผลการศึกษาต่างประเทศ ภายใต้แรงกดดันทุกรูปแบบจากสภาองค์กรของผู้บริโภค

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เจอตัวแล้ว ผู้ต้องสงสัยโพสต์ขู่กราดยิงห้างขอนแก่น คุมสอบปากคำเข้ม เจ้าตัวยังปฏิเสธข้อกล่าวหา
สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์วัดหนองบอนนับ 100 ราย ยื่นหนังสือร้องผู้ว่าฯตราด
พุทธศาสนิกชนชาวอยุธยา สืบสานประเพณีตักบาตรเทโว วัดใหญ่ชัยมงคล
การรถไฟฯ ชวนร่วมเดินทางขบวนรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ เที่ยวชมกรุงเก่า “อยุธยา” เนื่องในวันปิยมหาราช เริ่มจำหน่ายตั๋วพร้อมกันทั่วประเทศ 19 ต.ค. 67 นี้
ประมงสงขลา ประมงจันทบุรี และประมงเพชรบุรี พบปลาหมอคางดำแหล่งน้ำธรรมชาติหนาแน่นลดลง เดินหน้าเฝ้าระวังและกำจัดต่อเนื่อง เน้นขอความร่วมมือช่วยจัดการในบ่อร้าง
"บิ๊กเต่า" เผยเช็กมือถือ "บอสพอล" พบคลิปรีดไถ "นักร้อง-นักการเมือง" เพียบ จ่อเรียกสอบปากคำ
“ภูมิ​ธรรม​-​อนุทิน”​ ประสานเสียง ไม่หวั่น​กกต. รับคำร้อง​ยุบเพื่อไทย​ปม​ 6 พรรคร่วม ให้“ทักษิณ”ครอบงำ
เปิดตัวสุดปัง! Chester’s Flagship Store @Siam ชูคอนเซ็ปต์ 'Good Food Good Mood' เพิ่มสีสันให้แลนด์มาร์กคนรุ่นใหม่
รอลุ้น “ธีรภัทร” เผยพร้อมย้ายช้าง “พลายดอกแก้ว” พรุ่งนี้ หลังผลตรวจเลือดออก
"ชูศักดิ์" ไม่หวั่น​ หลังมีข่าว​กกต.​รับคำร้องคดียุบเพื่อไทย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น