ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกรณีการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 สลับชนิดว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ส่งผลให้พบอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่อัตราผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนกับผู้ป่วย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวัคซีนที่ออกแบบมาในเวลานี้ มีส่วนช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตได้
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตเป็นหลักร้อยต่อวัน เป็นผลจากจำนวนการเจ็บป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากคู่ขนานไปกับศักยภาพการดูแลสุขภาพ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือต้องทำให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดลงโดยเร็วที่สุด นั่นคือการเร่งฉีดวัคซีนทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพิ่มมากขึ้น และยังพบสายพันธุ์เบตาอยู่บ้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ แต่ไทยยังไม่พบสายพันธุ์แลมบ์ดา
ขณะที่การปรับสูตรฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่างชนิดกันนั้น นพ.ประสิทธิ์ ชี้แจงว่า วัคซีนเข็มที่ 1 ซึ่งเป็นซิโนแวค ซึ่งเป็นเชื้อตาย จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบบีเซลล์ได้ดี แต่กระตุ้นภูมิคุ้มกันทีเซลล์ไม่ดีนัก ดังนั้นหากปรับใช้วัคซีนเข็มที่ 2 คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบทีเซลล์ได้ดี เมื่อมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ฉีดเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยทั่วไปเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงขึ้น โดยมีงานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รองรับว่าเมื่อฉีดครบ 2 เข็มนี้ ระบบภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้นครอบคลุมสายพันธุ์เดลตา และช่วยลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตได้ ส่วนอีกสูตร หากฉีดแอสตร้าเซนเนก้าทั้งสองเข็ม จะต้องเว้นระยะระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 เป็นเวลา 10-12 สัปดาห์ และภูมิคุ้มกันจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว 2 สัปดาห์
นพ.ประสิทธิ์ แนะนำว่า ประเทศไทยควรรีบเจรจากับบริษัทที่กำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 อย่างเร็วสุดคงเป็นช่วงต้นปีหน้า ซึ่งในช่วงเวลาที่เหลือของปี 64 ต้องบริหารจัดการวัคซีนที่มีอยู่ จึงเป็นที่มาของการคิดสูตรการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 และผ่านไปประมาณ 5 สัปดาห์ ทำให้ผู้ที่ได้รับการฉีดมีภูมิคุ้มกันที่ดี และปลอดภัยมากขึ้นจากสายพันธุ์เดลตา ขณะเดียวกันผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคทั้ง 2 เข็ม โดยเฉพาะบุคลากรด่านหน้านั้น ก็ควรจะฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ซึ่งหลักการเดียวกันที่ควรมากระตุ้นทีเซลล์ คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีน mRNA
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวปิดท้ายว่า ก่อนที่จะฉีดวัคซีนสลับชนิดให้กับประชาชนทั่วไป ได้มีการฉีดในกลุ่มตัวอย่างไปก่อนหน้านี้ 1,000 กว่าราย และมีความปลอดภัยสูงมาก จนถึง ณ วันนี้ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนหรืออาการไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด