สืบเนื่องจากวันนี้ (20 ต.ค.65) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) อีกครั้งหลังจากกรณีดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ มานานกว่า 8 เดือนแล้ว นับตั้งแต่ทั้งสองบริษัทได้ยื่นรายงานการรวมธุรกิจต่อเลขาธิการ กสทช. ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565
โดยทางสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้มีการเชิญชวนให้ผู้ใช้ผู้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 2 ค่ายไปรวมตัวแสดงพลังคัดค้าน อ้างเพื่อว่าป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ นางสาว ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็แจ้งจะเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การลงมติควบรวมทรู-ดีแทค ที่สำนักงานกสทช. ด้วยเช่นกัน หลังจากก่อนหน้าส.ส.ก้าวไกล ได้ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภคมาโดยตลอด
ล่าสุด นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) ได้ให้ความเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในการพิจารณาเรื่องการควบรวมที่เกิดขึ้น กสทช.มีบทบาทที่จะต้องพิจารณาในหลายมิติ ทั้งด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ค่าบริการ และการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยเมื่อพิจารณาตามกรอบกฎหมายจะพบว่ากรณีการควบรวมในลักษณะนี้ ระบุไว้ชัดเจนในประกาศ กสทช.ปี 2561 ซึ่งให้ กสทช.มีอำนาจใจการพิจารณารายงานของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ในกรณีที่มีประสงค์จะควบรวม ซึ่งรายงานนี้ยังมีการกำหนดว่าต้องทำได้ทั้งก่อนควบรวมและหลังควบรวม โดย กสทช.มีอำนาจเต็มในการออกมาตรการเสริมเพิ่มเติม ถ้าสังคมมีความกังวลเรื่องของค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ และการดูแลลูกค้า
“เรื่องนี้ตามกฎหมายจะพิจารณาโดยให้มติหรือไม่อนุมัติไม่ได้ แต่ กสทช. มีอำนาจเต็มที่ในการออกประกาศเพิ่มเติมได้หากเห็นว่าสังคมมีความกังวลเรื่องค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ และการดูแลลูกค้า เพื่อให้เกิดความสมดุลในอุตสาหกรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค” นายสืบศักดิ์ กล่าว