“ธนาธร” โผล่ร่วม “สารี” สภาฯผู้บริโภคค้านกสทช.ไฟเขียวผนึก TRUE-DTAC

"ธนาธร" โผล่ร่วม "สารี" สภาฯผู้บริโภคค้านกสทช.ไฟเขียวผนึก TRUE-DTAC

วันที่ 20 ต.ค. 65 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีการประชุมเพื่อพิจารณาวาระการรายงานการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC

สำหรับบรรยากาศที่สำนักงาน กสทช. มีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม และประชาชนคนใช้มือถือจำนวนหนึ่ง เดินทางมาเฝ้าสังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้ ตามการประกาศนัดหมายของสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อรอฟังคำตอบคณะกรรมการ กสทช. ว่าจะมีมติอย่างไร พร้อมแสดงจุดยืนชัดเจนโดยการชูป้ายข้อความและยื่นหนังสือคัดค้าน และไม่เห็นด้วยกับการควบรวม เนื่องจากมองว่า หากคณะกรรมการ กสทช. มีมติให้ควบรวมจริง หวั่นใจว่าจะเป็นการผูกขาดทางการค้า เป็นการผลักภาระมาให้ประชาชนผู้ใช้บริการรับผิดชอบ เพราะเป็นการผูกขาดกิจการประเภทโทรคมนาคม ซึ่งจะทำให้การแข่งขันทางการตลาด ค่าบริการแพงขึ้น และทางเลือกของผู้บริโภคจะลดลง จากเดิมที่มีน้อยอยู่แล้วแค่ 3 รายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บรรยากาศโดยรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางซื่อ มาดูแลเรื่องการจัดการจราจรและดูแลความเรียบร้อยบริเวณโดยรอบ

 

 

 

ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางมาสังเกตการณ์การลงมติควบรวม TRUE-DTAC ครั้งนี้ด้วย

นายธนาธร กล่าวว่า การมารวมตัวกันเพราะมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการในครั้งนี้ เพราะทำให้ผู้เล่นในตลาดเหลือน้อยราย ทำให้ค่าบริการแพงขึ้น การแข่งขันลดลง และคุณภาพต่ำลง ไม่ส่งผลดีกับประชาชนและผู้บริโภค ยืนยันพร้อมเคียงข้างประชาชนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ และส่งเสียงว่าไม่ต้องการเห็นการผูกขาดในธุรกิจโทรคมนาคมและอยากเห็นการแข่งขัน ที่จะนำไปสู่การให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้นและการแข่งขันที่นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และการแข่งขันที่นำไปสู่ราคาที่ถูกลงสำหรับการเข้าถึงของประชาชนทุกชนชั้นทั้งโทรศัพท์และระบบอินเตอร์เน็ต

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการควบรวมธุรกิจเกิดขึ้นในวันนี้ จะเกิดการผูกขาดและส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างไร นายธนาธร ระบุว่า ปัจจุบันมีผลการวิจัยหลายชิ้น ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจาก กสทช. เป็นผู้ศึกษา ได้บ่งชี้ให้เห็นว่า เมื่อมีการควบรวม แนวโน้มค่าบริการจะสูงขึ้น และคุณภาพต่ำลง จึงมองว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน คือ การมีโอกาสที่เงินในกระเป๋าจะลดน้อยลง เพราะปัจจุบันนี้ คนใช้ระบบอินเตอร์เน็ต และดาต้า เพิ่มขึ้น จากการบริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านระบบมือถือ ซึ่งคลื่นความถี่โทรคมนาคมมีความสำคัญมาก ดังนั้น ผลกระทบที่ชัดเจน คือภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น การเข้าไม่ถึงระบบอินเตอร์เน็ต คือ การไม่เข้าถึงโอกาส ส่งผลให้เกิดความเลื่อมล้ำ ดังนั้น หากค่าบริการแพงขึ้น คนจนจะมีโอกาสเข้าถึงความรู้ และโอกาสทางเศรษฐกิจได้น้อยลง

ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณี หากมีการควบรวม จะทำให้โอกาสที่จะเกิดการแข่งขันทางตลาดมากขึ้น เนื่องจากจะทำให้ประกอบการมีความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันที่ใกล้เคียงกัน ประชาชนจะได้ โอกาสจะได้รับผลดีจากการแข่งขัน นายธนาธร ระบุว่า จากที่เห็นของต่างประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการน้อยลง ก็มีโอกาสเกิดการผูกขาด และทำให้ราคาแพงขึ้น และในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่กว่าหรือเทียบเคียงประเทศไทย ไม่มีประเทศไหนที่มีผู้ประกอบการเพียง 2 รายเลย มั่นใจ การแข่งขันมีผู้ประกอบการ 3 ราย จะเหลือรายเดียวจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน และกรณีของประเทศไทย สามารถที่จะให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนในการหาผู้ซื้อรายใหม่ เข้ามาซื้อหุ้นของ DTAC แทน TRUE ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยไม่ต้องใช้กลไก ของกสทช. ในการดำเนินการใด แต่ให้รัฐผลักดันหาผู้ซื้อรายใหม่ซื้อหุ้น DTAC เเทน

 

 

ทั้งนี้ จากรณีศึกษาของต่างชาติ ที่จะนำมาประกอบการพิจารณาของไทยสามารถเทียบเคียงกันได้หรือไม่นั้น นายธนาธร ระบุว่า การนำผลการวิจัยจากต่างประเทศมาใช้กับการพิจารณาควบรวมของไทย ไม่ได้มีความแตกต่างกัน เนื่องจากเป็นเรื่องของการขายคลื่นความถี่ การลงทุนโครงข่ายพื้นฐาน และนำคลื่นความถี่มาเเปลงเป็นค่าบริการ ดังนั้น หากพิจารณา ถึงความเหมาะสมจะต้องนำกรณีศึกษาของประเทศอื่นๆมาเทียบเคียงด้วย

นายธนาธร ยืนยันว่า มติจากคณะกรรมการกสทช. ในวันนี้มีความสำคัญสำหรับประเทศและอนาคต ไม่เฉพาะผู้บริโภค แต่ยังเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของประเทศ และสิทธิมนุษยชน และหากกสทช. อนุมัติให้มีการควบรวมขึ้น ก็ต้องการเห็นมาตรการที่จะป้องกัน การฮั้วราคาและผูกขาดตลาด อาทิ การบังคับให้ต้องมี MVNO ที่มีสัดส่วนนัยยะสำคัญในตลาด โดยการนำคลื่นความถี่บางส่วนออกมาเปิดประมูลใหม่ และเป็นมาตรการทางโครงสร้างที่ป้องกันการขาดในอนาคต ส่วนตัวเชื่อว่า หากมีการควบรวมเหลือผู้ประกอบการ 2 รายในตลาด การจะเพิ่มผู้ประกอบการให้เห็น 3 ราย จะเป็นเรื่องที่ยาก และเเทบจะเป็นไปไม่ได้ จึงมองว่า การไม่ให้เกิดการควบรวมจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากผลการประชุมมีการสรุปให้มีการควบรวมเกิดขึ้น หลังจากนี้ จะต้องเกาะติดมาตรการที่กสทช.จะวางไว้ ซึ่งเท่าที่ทราบจากการหารือ มาตรการที่วางไว้จะเป็นมาตรการที่เบา ไม่เพียงพอให้เกิดผู้เล่น MVNO ในตลาดได้จริง ยืนยัน รับไม่ได้หากเกิดการควบรวม และไม่เห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้

 

 

 

นายธนาธร กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ ว่าองค์กรทางธุรกิจมีเป้าหมายในการทำกำไรสูงสุด แต่ในกรณีมีผู้เล่นในตลาดเพียง 2 เจ้า กำไรสูงสุดจะไม่ได้มาจากการแข่งขัน แต่จะมาจากการไม่ลดราคา ผมขอเรียกร้อง กสทช. ว่าอย่าเห็นแก่ประโยชน์ของกลุ่มทุน ถึงเอกชนจะมีสิทธิเสรีภาพในการประกอบธุรกิจก็จริง แต่ กสทช. ก็มีหน้าที่ดูแลไม่ให้เสรีภาพนั้นไปทำร้ายประชาชนให้มีต้นทุนการใช้ชีวิตที่สูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ นายธนาธร ยังได้ขอให้ประชาชนออกมาปกป้องและให้กำลังใจนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ถูกทนายภาคประชาชน แจ้งความกล่าวโทษ กรณีนำเอกสารข้อมูลราชการออกมาเปิดเผย เพื่อไม่ให้นางสาวสารี ต้องต่อสู้คนเดียว พร้อมมองว่า การนำเอกสารออกมาเปิดเผยเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้

 

 

ทั้งนี้ ทางด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อพันตำรวจเอกประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธานบอร์ด กสทช. โดยที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค แสดงจุดยืนคัดค้านการควบรวม TRUE และ DTAC พร้อมเรียกร้องให้ กสทช.รักษาผลประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วยการไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม เนื่องจากเห็นว่าหากวิเคราะห์ตาม มาตรา 21 ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ปี 2549 จะพบว่าได้มีการแสดงเจตนารมณ์ทางกฎหมายอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการผูกขาด หรือลดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมในธุรกิจประเภทเดียวกัน

 

 

ขณะเดียวกัน ได้มีตัวแทนผู้บริหาร TRUE เดินทางมาร่วมเฝ้าสังเกตการณ์การประชุมบอร์ด กสทช. ในครั้งนี้ด้วย พร้อมคาดการณ์ว่า บอร์ด กสทช. จะมีการลงมติว่าจะให้ TRUE และ DTAC ควบรวมกิจการกันหรือไม่ เพราะมองว่า หากไม่มีการลงมติในวันนี้ คณะกรรมการ กสทช. จะมีความผิดตามกฎหมาย เพราะได้มีการเลื่อนการลงมติมาแล้วหลายครั้ง และปัจจุบันระยะเวลาเกิน 90 วัน ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่

 

 

 

 

 

ภาพ : ทศฤทธิ์ วัฒนราษฎร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

หนุ่มค้างค่าเช่าหลักหมื่น ทิ้งขยะกองโตท่วมห้องไว้ให้เจ้าของหอดูต่างหน้า
"ศาลอุทธรณ์" ยืนโทษคุก 8 เดือน "สมบัติ ทองย้อย" อดีตการ์ดเสื้อแดง โพสต์หมิ่น "พล.อ.ประยุทธ์" 2 ข้อความ
สพฐ. ชูศึกษานิเทศก์ทั้งประเทศ กลไกขับเคลื่อน "เรียนดี มีความสุข" สร้างคุณภาพสู่ห้องเรียน
“เต้ อาชีวะ” เดือด! จัดหนัก UN ปล่อยต่างด้าวล้นรพ.รัฐ แย่งคิวคนไทย
ปัตตานีระทึก คนร้ายชักปืน จี้ "พนง.ร้านสะดวกซื้อ" ชิงเงินสด 1.2 ล้าน หนีลอยนวล
เตรียมพบเทศกาลนานาชาติ พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2024 "จันทบุรีนครอัญมณี" ปีที่ 5 ชูเอกลักษณ์เมืองจันท์ อัญมณีอันเลื่องชื่อ
“สมศักดิ์” นำร่อง “ตู้ห่วงใย” บริการแพทย์ทางไกลเชิงรุกในชุมชน ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ 
"พงษ์ศักดิ์" ยื่นร้องกกต. ขอระงับรับรองผลเลือกตั้งนายกอบจ.ขอนแก่น ชี้พบเหตุหาเสียงส่อผิดกม.
“กฤษอนงค์” ไร้เงาคนยื่นประกัน นอนคุกคืนแรก ด้าน “บอสพอล” มอบทีมกม.ยื่นค้านประกันตัว
‘ทะเลสาบน้ำเค็ม’ โผล่กลางทะเลทรายในมองโกเลียใน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น