วันที่ 21 กรกฏาคม 2564 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ติดตามและเฝ้าระวังการระบาดของโรคลัมปี สกินในสัตว์เลี้ยง ลามระบาดสู่สัตว์ป่า อย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษาวิจัย หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร. 5 (ห้วยลึก) ร่วมกับ WWF ประเทศไทย เก็บการ์ดกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) ซึ่งติดตั้งเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อนำภาพที่บันทึกได้กลับมาวิเคราะห์ ติดตามเฝ้าระวังการระบาดของโรคลัมปีสกิน กระทิงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยทำการเก็บการ์ดกล้องทั้ง 14 จุด จากการตรวจสอบพบกระทิงจำนวน 6 ตัว และวัวแดง 1 ตัว ที่สงสัยว่ามีรอยโรคลัมปีสกิน ซึ่งพบจากกล้องจำนวน 6 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 แปลงหญ้าปศุสัตว์ทางเข้าบ่อ5 จุดที่ 2 บ่อ5 จุดที่ 3 ป่าสนไฟไหม้ จุดที่ 4 แปลง 200 ไร่ จุดที่ 5 สยามไวย์ และจุดที่ 6 แปลงหญ้าทหาร จากนั้นจะได้ส่งภาพสัตว์ป่าจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่ากับสัตวแพทย์กรมอุทยานฯ ตรวจสอบสุขภาพและวินิจฉัยร่องรอยโรค
ทั้งนี้ยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.1 (ป่ายาง) จัดทำซุ้มดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเพิ่มเติมเพื่อติดตามสังเกตุพฤติกรรมกระทิงฝูง และเฝ้าระวังการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในสัตว์ป่า โดยเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ถ่ายภาพบริเวณแปลง 200 พบกระทิง จำนวน 117 ตัว สภาพและพฤติกรรมโดยรวม กระทิง วัวแดง ยังหากินปกติ ไม่มีตัวที่ได้รับบาดเจ็บ แต่เนื่องจากภาพถ่าย อยู่ในระยะไกล ไม่สามารถสังเกตุเห็นรอยโรคได้ และถ่ายภาพบริเวณแปลงหญ้าทหาร พบกระทิง อีกจำนวน 87 ตัว สภาพโดยรวมปกติ ไม่สามารถสังเกตุเห็นรอยโรคได้เช่นเดียวกัน สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้อมูลล่าสุด มีสัตว์เลี้ยง ป่วยสะสมทั้งหมด 3,459 ตัว สัตว์เลี้ยงหายป่วยสะสม 1,027 ตัว ตายสะสม 235 ตัว สัตว์ป่วยใหม่วันนี้ 80 ตัว คงเหลือสัตว์ป่วยสะสม 2,197 ตัว
ศวิษฐ สำราญรม ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ประจวบคีรีขันธ์