"ยานอวกาศ ดาวอังคาร" ยานสำรวจดาวอังคาร Mangalyaan ของอินเดีย ประกาศยุติภารกิจ หลังสำรวจดาวเคราะห์ดวงนี้มานาน 8 ปี
ข่าวที่น่าสนใจ
“ยานอวกาศ ดาวอังคาร” สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อัปเดตข่าวสารวงการดาราศาสตร์ เผย ยาน Mangalyaan ยานสำรวจดาวดาวอังคารของอินเดีย ประกาศยุติภารกิจ หลังสัญญาณขาดหาย เป็นอันสิ้นสุดภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ยาวนานถึง 8 ปี โดยระบุว่า สัญญาณการติดต่อศูนย์ควบคุมจากยานโคจรรอบดาวอังคารของอินเดียขาดหายไป!! ภารกิจของยาน Mangalyaan มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว หลังโคจรรอบดาวอังคาร เพื่อสำรวจดาวเคราะห์ดวงนี้มานาน 8 ปี
สถานีควบคุมภาคพื้นดินขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ขาดการติดต่อกับตัวยาน และไม่สามารถฟื้นคืนการใช้งานได้ ทำให้ทาง ISRO ประกาศยุติภารกิจของยานลำนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้ว่าสาเหตุจะยังไม่ชัดเจน แต่นักวิทยาศาสตร์กับวิศวกรคาดการณ์ถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ ดังนี้
- เชื้อเพลิงของยานเหลือไม่เพียงพอ
- แบตเตอรี่ของยานมีพลังงานเหลือต่ำกว่าขีดจำกัดในการทำงาน
- ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติอาจทำให้การสื่อสารของยานหยุดลง
ยาน Mangalyaan ปฏิบัติภารกิจโคจรรอบดาวอังคารเป็นระยะเวลา 8 ปี ซึ่งยาวนานกว่าระยะเวลาที่ ISRO ตั้งเป้าไว้ที่ 6-10 เดือน โดยยานถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2013 และเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารในเดือนกันยายน ค.ศ.2014
ยาน Mangalyaan มีแผงเซลล์สุริยะขนาด 1.4 x 1.8 เมตรติดตั้งอยู่ ซึ่งสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้ 800 วัตต์ และใช้ชาร์จแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน แต่เมื่อไม่นานมานี้ ยานโคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของดาวอังคารบ่อยครั้ง เช่น ในเดือนเมษายน ค.ศ.2022 ยานได้เข้าไปอยู่ในเงาอยู่นาน จนเมื่อฟื้นสถานะกลับคืนมาได้ ก็พบว่าเชื้อเพลิงของยานเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ซึ่งส่งผลต่อขีดความสามารถในการชาร์จแบตเตอรี่
แต่ในครั้งล่าสุดนี้ ยานผ่านเข้าไปในเงามืดของดาวอังคารยาวนานถึง 7 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเกินกว่าขีดจำกัดของแบตเตอรี่ที่รองรับการโคจรเข้าไปในเงาดาวอังคารได้เพียง 1 ชั่วโมง 40 นาที จนทำให้พลังงานในแบตเตอรี่ของยานต่ำกว่าระดับที่ยานจะกู้สถานะกลับคืนมาได้
อย่างไรก็ดี ทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของ ISRO มองว่ายังมีสาเหตุอื่นที่เป็นไปได้ นั่นคือ ระบบอัตโนมัติที่ควบคุมการหมุนและการทรงตัวของยาน อาจเกิดปัญหาขณะที่ยานอยู่ในเงามืดของดาวอังคาร จนทำให้จานรับส่งสัญญาณวิทยุของยานชี้ออกจากโลก จึงทำให้ไม่สามารถติดต่อกับยานได้
แม้ว่า Mangalyaan เคยผ่านปัญหาขาดการติดต่อกับโลกในช่วง 2 ปีแรกมาแล้ว แต่ก็สามารถกลับมาปฏิบัติงานได้โดยอัตโนมัติ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้แตกต่างออกไป สัญญาณหายไปอย่างถาวร จนยานไม่สามารถฟื้นกลับมาปฏิบัติงานได้ และทาง ISRO กำลังพยายามหาสาเหตุของปัญหานี้ต่อไป ไม่ว่าจะมาจากเชื้อเพลิงที่ไม่เพียงพอ หรือจานรับส่งสัญญาณที่ไม่สามารถใช้สื่อสารกับโลกได้
ภารกิจ Mangalyaan เป็นภารกิจส่งยานสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่นครั้งแรกของอินเดีย จนทำให้ ISRO เป็นองค์การอวกาศแห่งที่ 4 ที่สามารถส่งยานไปโคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จ โดยเป้าหมายหลักของภารกิจนี้ คือ การทดสอบเทคโนโลยีอวกาศสำหรับการสำรวจดาวเคราะห์ของอินเดีย และศึกษาพื้นผิวกับบรรยากาศดาวอังคาร
อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ติดตั้งบนยาน Mangalyaan ประกอบด้วย
- กล้องถ่ายภาพสี
- อุปกรณ์ตรวจวัดรังสีอินฟราเรดจากความร้อน
- อุปกรณ์ตรวจวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีอัลตราไวโอเลต ใช้ศึกษาไฮโดรเจนในบรรยากาศชั้นบนของดาวอังคาร
- อุปกรณ์วัดสเปกตรัม ใช้ศึกษาอนุภาคในบรรยากาศชั้นนอกสุดของดาวอังคาร
- อุปกรณ์ตรวจหาโมเลกุลมีเทน ซึ่งเป็นแก๊สที่อาจที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต
ข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง