หนึ่งวันก่อนหน้า นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพิ่งจะกล่าวในรัฐสภาว่า เธอเป็นนักสู้ แต่อีกหนึ่งวันต่อมา เธอก็ยอมแพ้เสียแล้ว ด้วยการประกาศลาออก ทำให้ทรัสส์กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ทำลายสถิติเดิมของนายกรัฐมนตรี จอร์จ แคนนิง ที่เสียชีวิตหลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 119 วัน และนี่คือลำดับเหตุการณ์สำคัญต่างๆภายในเวลา 45 วันของการเป็นนายกรัฐมนตรีของทรัสส์
5 กันยายน – ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม โดยทรัสส์ เอาชนะนายริชิ ซูแนก ไปด้วยคะแนนน้อยกว่าที่คาดไว้ ที่ 57.4 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 42.6 เปอร์เซ็นต์
8 กันยายน – ประกาศนโยบายพลังงาน ซึ่งทรัสส์จะควบคุมราคาพลังงานไม่ให้เกิน 2 พัน 5 ร้อยปอนด์ต่อครัวเรือนต่อปี เป็นเวลาทั้งหมด 2 ปี ซึ่งเป็นนโยบายที่จะต้องใช้งบประมาณสนับสนุนที่มากที่สุดของรัฐบาล นับตั้งแต่วิกฤตการเงินในปี 2008
จากนั้นในวันเดียวกันสมเด็จพระราชินีนารถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต ตามมาด้วยพิธีการไว้ทุกข์ 10 วัน ซึ่งทำให้การดำเนินงานต่างๆของนายกรัฐมนตรีถูกพักไว้
23 กันยายน –นายควาซี กวาเต็ง รัฐมนตรีคลังซึ่งถูกแต่งตั้งโดยทรัสส์ ประกาศนโยบายลดภาษีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี ที่มีมูลค่า 4 หมื่น 5 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท) สร้างความแตกตื่นแก่ตลาดการเงินทันทีจากความกังวลที่ว่ารัฐบาลจะต้องกู้เงินมหาศาลเพื่อใช้ดำเนินงาน ทำให้นักลงทุนแห่เทขายพันธบัตรรัฐบาล และค่าเงินปอนด์ร่วงลง จนธนาคารกลางอังกฤษต้องรีบยื่นมือกอบกู้สถานการณ์ ด้วยการเข้ารับซื้อพันธบัตรด้วยวงเงิน 6 หมื่น 5 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท)อย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องกองทุนบำเหน็จบำนาญที่เกือบจะต้องล้มละลาย
29 กันยายน –ทรัสส์ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสถานีวิทยุท้องถิ่น ว่าจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนตามแผนของเธอ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยไม่กล่าวถึงรายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะหาเงินมาใช้จ่ายอย่างไร ทำให้ตลาดยิ่งเกิดความไม่มั่นใจ และมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรุนแรง ด้วยการเทขายที่เพิ่มขึ้น จนทำให้อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านทะยานขึ้น และผู้ให้กู้ยกเลิกสัญญาต่างๆก่อนหน้า
3 ตุลาคม – ประกาศกลับลำยกเลิก นโยบายการยกเลิกเก็บภาษีเงินได้ผู้มีรายได้สูงในอัตรา 45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทรัสส์และนายกวาเต็ง ถูกกดดันจากสมาชิกภายในพรรค ฝ่ายค้าน และสาธารณชนให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว
10 ตุลาคม – นายกวาเต็ง นำเสนอแผนการเงินและการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของเดือนตุลาคม ภายใต้แรงกดดันในการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่พังทลาย ซึ่งในวันถัดไป ธนาคารกลางอังกฤษ ต้องประกาศขยายโครงการรับซื้อคืนพันธบัตรรายวัน เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดอีกครั้ง
12 ต.ค. – ไม่มีแผนยกเลิกลดหย่อนภาษี ในขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลอังกฤษขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ทรัสส์ยังคงยืนยันว่า จะไม่ยกเลิกการลดภาษีหรือลดการใช้จ่ายสาธารณะ
14 ตุลาคม – ปลดนายกวาเต็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่หู และพันธมิตรทางการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของทรัสส์ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง และแต่งตั้งนายเจเรมี ฮันต์ ขึ้นแทน
17 ตุลาคม – ฮันต์ประกาศล้มนโยบายเศรษฐกิจที่จัดทำโดยทรัสส์กับกวาเต็งเกือบทั้งหมด พร้อมระบุว่า จะต้องมีการลดการใช้จ่ายอย่างมาก โดยฮันต์จะประกาศนโยบายใหม่ภายในสิ้นเดือนนี้
18 ตุลาคม – สำนักข่าวต่างๆพากันพาดหัว ว่าทรัสส์เป็นนายกเพียงชื่อเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจใดๆ เช่นเดอะมิลเรอร์ พาดหัวว่า น่าอับอายขายหน้า ส่วนเดอะไฟแนนเชียล ไทม์ส์ กล่าวว่า กำลังจะถูกเชือด
19 ตุลาคม – ทรัสส์ประกาศในรัฐสภาว่า เธอเป็นนักสู้ไม่ใช่คนขี้แพ้ พร้อมกับการยื่นหนังสือลาออกของนางซูเอลลา เบรเวอร์แมน ซึ่งถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย
20 ตุลาคม – เวลา 13.30 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น ทรัสส์จำใจต้องประกาศลาออกในที่สุด