ฟังชัดๆ ACT เปิดเวทีชำแหละรฟม.ประมูลรถไฟฟ้าสีส้มสุดฉาว

ฟังชัดๆ ACT เปิดเวทีชำแหละรฟม.ประมูลรถไฟฟ้าสีส้มสุดฉาว

วันที่ 21 ต.ค. 65 องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย ) หรือ ACT จัดเสวนาเปิด เวทีสาธารณะค้นหาความจริง “กรณี 6.8 หมื่นล้าน ในการประมูล รถไฟสายสีส้ม” ผลประโยชน์..หรือค่าโง่!! ที่รัฐฯ ต้องมีคำตอบ โดยมีดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT , ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง , พ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS , ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมเสวนาในครั้งนี้

 

 

ขณะที่ทางด้านของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ไม่ได้เดินทางมาร่วมเสวนา โดยรฟม. ได้ส่งหนังสือชี้แจงกลับมาว่า เนื่องจากขณะนี้ ยังมีคดีความของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยคดียังไม่ถึงที่สุด การเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้อาจะส่งผลกระทบต่อคดีความได้

เช่นเดียวกับ BEM ที่ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าดำเนินการ จึงยังไม่อาจเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประมูลต่อสาธารณะได้

โดยในการเสวนา ดร. มานะ ได้กล่าวถึงการเข้าร่วมสังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ในส่วนของผู้สังเกตการคุณธรรม ค่อนข้างมีอุปสรรคในการทำงาน โดยผู้สังเกตการณ์คุณธรรม ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประมูลครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการนำเอา TOR เก่า มาปรับปรุง ทำให้ผู้สังเกตการณ์ เเสดงความคิดเห็นได้น้อย อีกทั้งในการประชุมหลายๆครั้ง ทางด้านของรฟม. ไม่ได้มีการเชิญผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประชุม จึงทำให้ขาดข้อมูลที่สำคัญและขาดความต่อเนื่อง ดังนั้น หากจะมีการกล่าวอ้างว่า โครงการนี้มีความโปร่งใส เพราะมีข้อตกลงคุณธรรมที่ทำร่วมกันแล้ว จะต้องมีการพิสูจน์อีกครั้ง

 

 

ส่วนโครงการนี้จะมีความโปร่งใส หรือ ไม่โปร่งใสนั่น ขณะนี้ ยังไม่สามารถฟันธงได้ เเต่จนถึงวันนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบจากผู้มีอำนาจ โดยให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบโครงการนี้ เช่นเดียวกันโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าโครงการฯ เป็นไปด้วยความโปร่งใสหรือไม่ และมีการใช้อำนาจหน้าที่เหมาะสมกับการที่รับเงินเดือนที่เป็นภาษีของประชาชนหรือไม่ รวมถึงในการตรวจสอบจะต้องมีการบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐานเพื่อในอนาคตบุคคลที่เกี่ยวข้องจะได้เข้ามารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และไม่ให้ผลประโยชน์ของประชาชนสูญหายไป

ดร. มานะ ระบุอีกว่า หลังจากที่ผู้สังเกตการณ์ได้พบข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการนี้ ผู้สังเกตการณ์ ได้มีการทำรายงานสรุปความคิดเห็นเสนอไปยังคณะกรรมการมาตรา 36 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งข้อมูลของรายงานจะมีการนำมาเปิดเผยต่อประชาชนหรือไม่ จะต้องติดตามต่อไป

ส่วนกรณีการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญจากการประมูลก่อนการลงนามสัญญาร่วมกันนั้น ดร. มานะ ระบุว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาชน ทำด้วยเงินภาษีประชาชน ACT จึงขอตั้งคำถามแทนประชาชนว่า ข้อมูลทุกอย่างควรจะเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบหรือไม่ แม้ระบุว่า ขณะนี้ยังมีเรื่องของคดีความ เรื่องของการเจรจาระหว่างผู้ชนะการประมูล ซึ่งยังไม่สิ้นสุดลง เมื่อใดจึงจะเปิดเผย อีกทั้งในส่วนของภาคเอกชน ที่เคยเข้าร่วมกสานประมูลได้มีการเปิดเผยตัวเลขการขอสนับสนุนเม็ดเงินจากรัฐบาลออกมา ในส่วนของภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะมีวิธีการใดที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้บ้าง

ส่วนขอเสนอของ TDRI ที่ได้เสนอถึงแนวทางการดำเนินการหากการประมูลครั้งที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยให้เปิดประมูลครั้ง 3 และให้การประมูลแบ่ง 2 ส่วน คือ การเปิดประมูลเรื่องของโครงสร้าง กับการเปิดประมูลเรื่องการเดินรถ ดร. มานะ ระบุว่า ข้อเสนอทางวิชาการนั้น สามารถที่จะเป็นไปได้ หากการประมูลรอบที่ 2 มีปัญหาจริงๆ เกิดขึ้น

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ด้าน พ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่า วันนี้ บีทีเอส ไม่ได้เป็นพวกขี้เเพ้ชวนตี แต่ต้องการนำเสนอประเด็นให้สังคมได้เห็นถึงการทำหน้าที่ของรัฐ ในโครงการนี้ที่มีความไม่ตรงไปตรงมา หรือมีพิรุธ โดยเฉพาะการพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลว่า เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ แต่ก็ไม่ทำ ซึ่งผู้ที่ถูกกำหนดให้ไม่เป็นผู้ได้รับคัดเลือกจะไม่มีสิทธิเข้าร่วมประมูล อีกทั้งเมื่อได้รับทราบคำชี้แจงของคณะกรรมคัดเลือกรายหนึ่ง ที่ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ ฯ ก็สร้างความแปลกใจ กับวิธีคิดที่ระบุให้บริษัทดังกล่าว ได้ผ่านเกณฑ์การประมูล และหากชนะการประมูล ก็ให้เปลี่ยนแปลงชื่อของคณะกรรมการท่านอื่นเป็นผู้ลงนามแทน ซึ่งย้อนแย้งกับสิ่งที่ควรจะเป็น

 

 

ขณะเดียวกัน บริษัท ตั้งคำถามไปยังคณะกรรมการคัดเลือก ถึงการรักษาผลประโยชน์ของประเทศเต็มที่หรือไม่ เนื่องจาก เม็ดเงิน 6.8 หมื่นล้านบาท เป็นตัวเลขที่สูง หากการประมูลเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี 2563 รัฐบาลจะเสียเงินเพียง 9 พันกว่าล้านบาท ส่วนปี 2565 รัฐเสียเม็ดเงินไปถึง 7.6 หมื่นล้านบาท จึงได้ตั้งคำถามไปถึงคณะกรรมการคัดเลือกว่าได้มีการนำข้อมูลการเสนอราคาของบีทีเอส ไปเป็นข้อมูลในการเจรจาต่อรองกลับผู้ชนะการประมูลหรือไม่ พร้อมไล่ไทม์ไลน์ให้แก่คณะกรรมการฯทราบ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รับทราบ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีผู้ใดรับผิดชอบ

พ.ต.อ.สุชาติ ยืนยันว่า ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บีทีเอส ไม่ได้คิดว่าตนเองจะต้องเป็นผู้ชนะการประมูล แต่เมื่อมีโอกาสในการเข้าไปแข่งขันเพื่อเสนอตัวในการแข่งขันบนกติกาที่เป็นธรรม บริษัทก็จะเข้าร่วมการประมูลแน่นอน

 

 

ด้าน ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จากการติดตามการประมูลมากว่า 2 ปี ได้มีข้อสังเกตต่อการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก 10 ข้อ ประกอบด้วย

1.การประมูลครั้งที่ 1 หาก รฟม. ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและไม่ล้มประมูล มีความเป็นไปได้ที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร่วมกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC จะชนะการประมูล เพราะขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. ต่ำแค่เพียง 9,675.42 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้รัฐประหยัดค่าก่อสร้างได้ถึง 6.8 หมื่นล้านบาท

2. รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลจาก “เกณฑ์เดิม” ที่ต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผ่านก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนต่อไป ใครเสนอผลประโยชน์สุทธิ (เงินตอบแทนให้ รฟม. หักด้วย เงินขอรับสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม.) ให้ รฟม. มากที่สุดก็จะชนะการประมูล เป็น “เกณฑ์ใหม่” ที่พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะชนะการประมูล

3. ในการประมูลครั้งที่ 2 เหตุใด รฟม. จึงลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้นในทางที่ถูกต้อง หาก รฟม. ต้องการได้ผู้ยื่นประมูลที่มีคุณสมบัติสูงขึ้น ก็ควรเพิ่มคุณสมบัติทั้งของผู้เดินรถไฟฟ้าและของผู้รับเหมา ไม่ใช่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น

4.หาก รฟม. ไม่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง จะทำให้ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ไม่สามารถร่วมยื่นประมูลกับ ITD ได้ และหาก รฟม. ไม่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น จะทำให้ BTSC ร่วมกับ STEC ที่เคยยื่นประมูลครั้งที่ 1 จะสามารถยื่นประมูลครั้งที่ 2 ได้ด้วย

5. กรณีที่ ITD ไม่สามารถยื่นประมูลกับ ITC ได้ ITD ก็ยังสามารถยื่นประมูลกับ BTSC ได้ จะทำให้ BTSC ร่วมกับ ITD เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ BEM ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง

6. รฟม. ให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่มผู้ยื่นประมูลได้ ทำให้ ITD สามารถเป็นผู้นำกลุ่ม ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ ITC ได้ หากผู้รับเหมาไม่สามารถเป็นผู้นำกลุ่มได้ ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องเป็นผู้นำกลุ่มเหมือนกับการประมูลครั้งที่ 1 ถามว่า ITC จะยอมเป็นผู้นำกลุ่มหรือไม่ ? เนื่องจากผู้นำกลุ่มจะต้องถือหุ้นมากที่สุด และไม่น้อยกว่า 35%

 

7.กรณี ITD ซึ่งมีกรรมการคนหนึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก อาจทำให้มีคุณสมบัติขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนหรือไม่ ? โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว “ไม่มีสิทธิ์” ได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แต่เหตุใด รฟม. จึงพิจารณาให้ ITD ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ

8.รฟม. เพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคให้สูงขึ้นกว่าครั้งที่ 1 และสูงกว่าโครงการอื่นที่ก่อสร้างในพื้นที่เดียวกัน ใช้เทคนิคการก่อสร้างเหมือนกัน ได้แก่ โครงการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ทำให้เป็นที่สงสัยว่ามีการกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งไม่ให้ผ่านเกณฑ์เทคนิคหลังจากผ่านเกณฑ์คุณสมบัติมาแล้วหรือไม่

9. จากการเปรียบเทียบการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างแพงขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท จึงเกิดคำถามว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วยปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติหรือไม่

10.การลงนามใน “ข้อตกลงคุณธรรม” 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย รฟม. ผู้ยื่นประมูล และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการกระทำการทุจริตในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้วยเหตุนี้ ACT จึงควรทบทวนบทบาทของตนเองในการส่งผู้สังเกตการณ์ไปร่วมสังเกตการประมูล หากผู้สังเกตการณ์จาก ACT ไม่รักษาจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ ACT ก็จะกลายเป็น “ตรายาง” รับรองการประมูลว่า “ไม่มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต”

โดย ดร.สามารถ ได้ตั้งคำถามไปยัง รฟม. ถึงประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนว่า หากพบว่าบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมยื่นซองเสนอ ราคา ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเหตุใด จึงยังมีการเปิดซองเสนอราคาอื่นเพื่อนำมาเทียบเคียง เพื่อให้ได้ผู้ชนะการประมูล พร้อมเรียกร้องไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ลงมาดูแลโครงการนี้อย่างจริงจัง ว่า โครงการนี้มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นหรือไม่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศ และมาตรฐานในอนาคต

 

ขณะที่ทางด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาหลายอย่าง และเกิดการฟ้องร้องรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลายอย่าง หากทางรัฐบาลยังคิดว่าสามารถดำเนินการต่อไปได้ ก็คงดำเนินการ ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะพิจารณา แต่หากจะมีการทบทวนการดำเนินงานใหม่ อยากให้ลองทบทวนการประมูลใหม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ การดำเนินงานสูงสุด

โดยเฉพาะเรื่องสัญญาสัมปทานที่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการให้บริการเดินรถ และรายได้ค่าโดยสารส่วนการก่อสร้างถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และบริษัทก่อสร้างไม่ได้ดำเนินการตลอดอายุสัมปทาน ดังนั้น เนื้อหาหลักของสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าจะอยู่ที่เรื่องของสัญญาการเดินรถ ซึ่งหากจะพิจารณาเรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการรวมสัญญาระหว่างสัญญาการเดินรถและสัญญาก่อสร้างเข้าด้วยกัน ซึ่งโครงการอื่นๆ ของรฟม. ก็มีแนวโน้มที่จะมีการแยกสัญญาอยู่แล้ว ดังนั้น ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจึงไม่ดำเนินการเช่นนั้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ฮีโร่โอลิมปิคเหรียญทองน้องอร “ฉายาสู้โวย” ร่วมแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ในงานกีฬาประจำปีอบต.ไทยสามัคคี พร้อมลงแข่งขันตีกอล์ฟบก สร้างความสนุกสนานเฮฮา
"สธ." ยันพบชาวเมียนมา ป่วยอหิวาฯ รักษาฝั่งไทย 2 ราย อาการไม่รุนแรง
สุดทน "พ่อพิการ" ร้อง "กัน จอมพลัง" หลังถูกลูกทรพี ใช้จอบจามหัว-ทำร้ายร่างกาย จนนอน รพ.นับเดือน
สลด กระบะชนจยย.พลิกคว่ำตก "ดอยโป่งแยง" เชียงใหม่ เจ็บตายรวม 13 ราย
“สมศักดิ์” ยกนวดไทยเป็นมรดกชาติ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพ เล็งพาหมอนวดโกอินเตอร์ โชว์ฝีมืองาน เวิลด์เอ็กซ์โปโอซาก้า ญี่ปุ่น
ห่ามาแล้ว! “แม่สอด” พบติดเชื้ออหิวาต์ เผยญาติฝั่งพม่าซื้อข้าวมากินด้วยกัน
ผกก.สภ.รัตนาธิเบศร์ สั่งตั้งคกก.สอบ "ตร.จราจร" รีดเงินแทนเขียนใบสั่ง
สตม. บุกทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กลางคอนโดหรูห้วยขวาง รวบ 6 คนจีน อึ้งเจอซิมการ์ด 2 แสนซิม
ครูบาอริยชาติ เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ฉลองสมโภช 18 ปีวัดแสงแก้วโพธิญาณ และทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคล 44 ปี
กกต.สั่งดำเนินคดีอาญา "ชวาล" ส.ส.พรรคประชาชน ยื่นบัญชีใช้จ่ายเท็จ โทษคุก-ตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น