วันที่ 22 ต.ค. 65 ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยว่า ผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “ความจริงในโลกโซเชียล” จากแหล่งข้อมูลพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของกลุ่มบัญชีผู้ใช้สื่อออนไลน์ในประเทศและต่างประเทศ ระหว่างวันที่10 ก.ย.-21 ต.ค. มีประเด็นที่น่าพิจารณาในการศึกษาครั้งนี้ คือการปลุกปั่นกระแสกระทบเสถียรภาพของรัฐบาล จำนวน 27,065 ตัวอย่าง พบว่า จำนวน 24,868 ตัวอย่างหรือร้อยละ 91.88 เป็นการปั่นมาจากต่างประเทศ เพื่อกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเช่น ไล่ประยุทธ์ ประยุทธ์ออกไป ในขณะที่จำนวน 2,197 ตัวอย่างหรือร้อยละ 8.12 ปั่นภายในประเทศโดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของการปั่นจำนวน 621.7 ครั้งในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 กว่าวันที่ผ่านมา นอกจากนี้เมื่อนำประเด็นความจริงในโลกโซเชียลที่กระทบต่อความมั่นคงชาติ เช่น การยกเลิก ม. 112 การปลุกปั่นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายมาพิจารณาได้พบแนวโน้มของการปลุกปั่นกระแสกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เช่น ยกเลิก ม.112 และการปฏิรูปสถาบันและอื่น ๆ พบว่าการปลุกปั่นกระแสกระทบความมั่นคงของชาติมีจำนวนตัวอย่างที่เก็บรวบรวมมาจากโลกโซเชียลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทั้งสิ้น 42,008 ตัวอย่าง พบว่า จำนวน 38,170 ตัวอย่างหรือร้อยละ 90.86 เป็นการปั่นมาจากต่างประเทศ เพื่อกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ในขณะที่ จำนวน 3,838 ตัวอย่างหรือร้อยละ 9.14 ปั่นภายในประเทศโดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของการปั่นจำนวน 95.95 ครั้งในช่วงระยะเวลาประมาณ 30กว่าวันที่ผ่านมา
ดร.นพดล ระบุต่อว่า เมื่อเจาะลึกข้อมูลไปยังฐานข้อมูลกลุ่มผู้ปั่นกระแสกระทบต่อความมั่นคงชาติทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ พบว่า เกือบร้อยละ 100 ที่เป็นการใช้ชื่อบัญชีอวตาร หรือ บัญชีทิพย์ ไม่มีตัวตนแท้จริง เและกลุ่มที่ใช้สัญลักษณ์อักขระเชิงรูปภาพ การ์ตูน ที่คอยปั่นกระแสยกเลิก ม.112 และปลุกปั่นมาจากต่างประเทศที่มีการใช้ VPN (Virtual Private Network) เพื่อซ่อนและปกปิดบิดเบือนที่อยู่ของตนเองให้เข้าใจผิดเรื่องแหล่งที่มาของการปลุกปั่นกระแสกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เช่นระบุว่ามาจาก แอฟริกาใต้ แต่จริง ๆ อยู่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ เช่น ตุรกี สิงคโปร์ อเมริกา เกาหลีและประเทศเพื่อนบ้านของไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เครื่องมือที่ใช้ยืนยันได้อย่างแน่นอนว่ามีการปลุกปั่นกระแสกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความมั่นคงของชาติมาจากต่างประเทศอย่างชัดเจนที่ยืนยันได้จากข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยที่ประชาชนในประเทศจะหลงกระแสไปกับภาพจำว่ากระแสต่อต้านรัฐบาลและความมั่นคงของชาติเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และคิดกันไปว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่อสอบถามถึงหน่วยงานรัฐที่ประชาชนวางใจมากที่สุดในการปกป้องรักษาความมั่นคงของชาติและควบคุมการชุมนุมไม่ให้เกิดความรุนแรงบานปลาย พบว่า ร้อยละ 36.1 ระบุตำรวจ รองลงมาคือร้อยละ 22.4 ระบุทหาร ร้อยละ 21.9 ระบุ มหาดไทย ร้อยละ 10.1 ระบุกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 8.3 ระบุ ปกครองส่วนท้องถิ่น และร้อยละ 1.2ระบุอื่น ๆ