จากการที่ประชาชนฝ่าฝืนคำสั่งห้ามจุดประทัดเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลี ตามประเพณีฮินดูประจำปี ตามรายของของ ไอคิวแอร์ บริษัทตรวจสอบสภาพอากาศพบว่า ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เป็นอันตรายได้พุ่งขึ้นไปที่ระดับ 350 ซึ่งมากถึงกว่า 3 เท่าของวันก่อนหน้า นอกจากนี้ยังมีปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 23 เท่า ซึ่งในเวลาต่อมาค่าฝุ่นได้ลดลงเหลือ 145 แต่ก็ยังสูงกว่ามาตรฐานเกือบ 10 เท่า
โดยรายงานของไอคิวแอร์ในปี 2020 ระบุว่า 22 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุด จาก 30 เมืองทั่วโลกนั้นอยู่ในอินเดีย ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงปัจจัยดังกล่าว ทำให้กรุงนิวเดลี เมืองหลวง ได้ออกคำสั่งห้ามขายและจุดประทัดเมื่อเดือนที่แล้ว และประกาศว่า ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งอาจถูกจำคุกสูงสุด 6 เดือน แต่เนื่องจากในนิวเดลี มีประชากรจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน ทำให้การปราบปรามเป็นไปได้อย่างยากลำบาก
อย่างไรก็ตาม สถานีโทรทัศน์ NDTV รายงานว่า ระดับมลพิษของกรุงเดลี หลังวันฉลองเทศกาลดิวาลีในปีนี้นั้น ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และนายอาร์วินด์ เคจริวัล หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของเดลี กล่าวว่า ทุกคนได้ทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่น่ายินดี แต่ยังมีหนทางที่ต้องเดินอีกยาวไกล
ทั้งนี้เทศกาลดิวาลีนั้นมักมีการเฉลิมฉลอง ในช่วงเวลาเดียวกับที่เกษตรกรในเขตพื้นที่ใกล้เคียงนั้นทำการเผาที่ หลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ฝุ่นควันจากประทัดและการเผาพื้นที่การเกษตร รวมกับมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมและยานพาหนะ จนเกิดเป็นมลพิษในอากาศ ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชนจำนวนมาก
จากการรายงานของแลนเซท วารสารทางการแพทย์ ระบุว่า ชาวเดลีถึง 1 หมื่น 4 พัน 5 ร้อยคนเสียชีวิต ในปี 2019 เนื่องจากเหตุมลพิษทางอากาศ ส่วนสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกกล่าวว่า ประชากรทั่วทั้งเอเชียใต้ จะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้นอีกถึง 5 ปี หากระดับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ลดลงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก