จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้โรงพยาบาลมีผู้ป่วยอยู่ในความดูแลจำนวนมาก ทั้งที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน และผู้ป่วยรอค้างเพื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและยาวนานในชุด PPE
โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. พัฒนาหมวกป้องกันเชื้อ PAPR โดยให้ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลทดลองใช้งานจริง และรวบรวมข้อเสนอแนะให้ กฟผ. นำไปพัฒนาจนเหมาะสมต่อการใช้งาน
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า หมวกป้องกันเชื้อ PAPR มีความสำคัญอย่างมากในช่วงวิกฤตเช่นนี้ เพราะช่วยให้ทีมแพทย์และพยาบาลปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมภายนอก ควบคู่กับการสวมใส่ชุด PPE เนื่องจากเป็นหมวกความดันบวก ทำให้อากาศภายในไหลเวียนดี มีระบบกรองอากาศดักจับเชื้อโรคภายนอก น้ำหนักเบา มีความคล่องตัวในการใช้งาน และไม่มีเสียงพัดลมรบกวน ที่สำคัญใช้งานได้นานถึง 8 ชั่วโมง
โดยหมวกป้องกันเชื้อ PAPR สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ต้นทาง ภายในห้องฉุกเฉิน การรักษาผู้ป่วยในห้อง ICU ไปจนถึงปลายทางในการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ดังกล่าว ช่วยสร้างความมั่นใจ และปกป้องทีมแพทย์ให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคขณะปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
สำหรับหมวกป้องกันเชื้อ PAPR เกิดจากน้ำใจของคนไทย ร่วมกับ กฟผ. ระดมทุนผ่านแพลตฟอร์ม ‘เทใจ’ โดยปัจจุบัน กฟผ. ผลิตได้ประมาณ 300 ใบ ส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลแล้วกว่า 85 แห่งทั่วประเทศ และคาดว่าจะส่งมอบได้ครบตามเป้าหมายแรก 500 ใบ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมทั้งได้จัดหาทุนสำหรับผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR เพิ่มอีก 500 ใบ เพื่อเสริมศักยภาพให้ทีมแพทย์ปลอดภัยสู้โควิด-19