“นักวิชาการโทรคมนาคม” มั่นใจผนึก TRUE-DTAC ไม่ก่อปัญหา ติงพวกต้านหยุดสร้างสับสน

"นักวิชาการโทรคมนาคม" มั่นใจผนึก TRUE-DTAC ไม่ก่อปัญหา ติงพวกต้านหยุดสร้างสับสน

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่บอร์ด กสทช.มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวม ทรู – ดีแทค และได้กำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคมว่า ถือเป็นการพิจารณาที่รอบคอบและถูกต้องตามกฎหมายบัญญัติ เนื่องจากเรื่องนี้ตามกฎหมายจะพิจารณาโดยมติ “อนุมัติ” หรือ “ไม่อนุมัติ” ไม่ได้ เนื่องจากการควบรวมในกรณีในลักษณะนี้ของทรูดีแทค ระบุไว้ชัดเจนในประกาศ กสทช.ปี 2561 ซึ่งให้ กสทช. มีอำนาจในการพิจารณารับทราบรายงานและยังมีอำนาจเต็มในการออกมาตรการเสริมเพิ่มเติม ถ้าสังคมมีความกังวลเรื่องของค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ และการดูแลลูกค้า ซึ่งบอร์ด กสทช.ก็ได้ออกเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะมาคุมเข้ม ไม่ว่าจะเป็นการห้ามรวมแบรนด์กันนานถึง 3 ปี

 

รวมถึงมีมาตรการเรื่องเพดานราคา และยังต้องแบ่งคลื่นให้กับ MVNO ฯลฯ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าการควบรวมกิจการทรูดีแทคจะไม่สร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค หรือ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่กลับจะทำให้ภาคโทรคมนาคมได้มีโอกาสพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคได้อีกด้วย ทั้งนี้มองว่าเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนดคุมเข้มนั้น ถือว่าดีกับทั้งอุตสาหกรรม และน่าจะบังคับใช้กับผู้ประกอบการทุกรายในอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ล่าสุดเมื่อ 25 ต.ค.65 กสทช.ได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการแจ้งให้ทรูและดีแทค รับทราบการรวมธุรกิจโดยกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะเพื่อกำกับดูแลการควบบริษัท ซึ่งปรากฏว่าภายในวันเดียวกันทรูและดีแทคได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯโดยทันทีว่าจะพิจารณาเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะดังกล่าวเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่เหมาะสมและการดำเนินการขั้นต่อไป แสดงให้เห็นว่าทั้งทรูและดีแทคจะเร่งการควบรวมหลังจากที่ได้รับแจ้งมติ กสทช.อย่างเป็นทางการ

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.65 นายสืบศักดิ์ สืบภักดี ได้โพสต์บนเฟสบุ๊ค Suebsak Suebpakdee ในหัวข้อ #บทวิเคราะห์ หลัง กสทช. ลงมติเห็นชอบรายงานการควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค เรื่องนี้เรียกได้ว่าจบรึยัง? เพื่อไขข้อข้องใจของสังคมให้กระจ่าง โดยมีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น 1.ดีลยังไม่จบและอาจเรียกได้ว่ายังมีเรื่องต้องผ่าฟัน 2.ข้อปฏิบัติที่เอกชนเห็นว่าปฏิบัติไม่ได้หรือไม่เป็นธรรมก็อาจร้องแย้งมติ 3.ความเห็นและข้อกังวลที่เกิดหลังมติ กสทช. 20 ตุลาคม 2565

ประเด็นแรก #ดีลยังไม่จบและอาจเรียกได้ว่ายังมีเรื่องต้องฝ่าฟัน โดยระบุว่า เงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ ที่ กสทช. ออกท้ายมติ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคมเท่าที่เห็นนั้น แม้หลายข้อจะเป็นการปรับจากการหยั่งเสียง และรับฟังข้อมูลก่อนหน้านี้มาเเล้วเพื่อบาลานซ์ทั้งต่อข้อร้องเรียนเเละข้อกังวลขององค์กรผู้บริโภค เเละฝั่งอุตสาหกรรม เเละข้อมูลทางเทคนิคแล้ว จนออกมาเป็นเงื่อนไขที่ดูแล้ว “พอจะ” หาทางไปได้ไม่เกิดการปฎิบัติไม่ได้ หรือได้ยากเเล้ว แต่เมื่อพิจารณารายข้อก็จะยังพบว่าสิ่งที่ทั้ง กสทช. และผู้รับใบอนุญาตจะต้องดำเนินการยังมีรายละเอียดที่ต้องทะลุให้ได้อยู่หลายข้อ
ในการดำเนินการต่อนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยซึ่ง กสทช. เองอาจจะต้องมีการตั้งคณะทำงาน หรืออนุกรรมการเพื่อจัดทำมาตรการ แนวปฏิบัติ หรือคณะทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการทางเทคนิคที่มีการพูดถึงหลายประเด็นทั้งเรื่องการขยายเครือข่าย การสร้างและใช้โครงสร้างพื้นฐานทั้งในแง่คลื่น สถานีฐาน ซึ่งอาจมีระบุในภาพรวมเพื่อคงมาตรฐานบริการที่ไม่ด้อยกว่าเดิม แต่ในความเป็นจริงต้องถูกนำไปปฏิบัติและตรวจสอบอย่างเข้มข้น

รวมไปถึงเรื่องการบริการผู้ใช้บริการตามที่มาตรการท้ายมติกำหนดไว้โดยละเอียดทั้งศูนย์บริการ การคงแบรนด์ให้ผู้บริโภคมีทางเลือก หรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ ระดับ Call Center อีกทั้งเรื่องกลไกควบคุมราคา การจัดส่งรายงานและการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย ซึ่งกำหนดกรอบเวลา 90 วันต่อจากนี้ ทั้งต้องมีการทำ Average Cost Pricing การต้องจัดทำรายงานโดยที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านการสอบทานโครงสร้างต้นทุน อัตราค่าบริการ หรือข้อมูลด้านอัตราต่าง ๆ ของอุตสาหกรรม

ประเด็นที่ 2 #ข้อปฏิบัติที่เอกชนเห็นว่าปฏิบัติไม่ได้หรือไม่เป็นธรรมก็อาจร้องแย้งมติ นายสืบศักดิ์ แสดงความเห็นว่า ข่าวจากหน้าสื่ออาจจะทำให้เราทราบเพียงมุมขององค์กรบางแห่งอาจไม่พอใจต่อการตัดสินใจตามมติ กสทช. ด้วยแง่มุมใดก็เเล้วแต่และอาจพึ่งกระบวนการยุติธรรม แต่ในอีกแง่มุมนึงฝั่งผู้ประกอบการก็อาจจะเห็นว่า มาตรการเเละเงื่อนไขที่กำหนดท้ายมตินั้น อาจปฏิบัติไม่ได้หรือไม่สมเหตุสมผลได้เช่นกัน ซึ่งในมุมนี้ฝั่งผู้ประกอบการก็อาจจะรอเอกสารการเเจ้งมติ และรายละเอียดจากสำนักงาน กสทช. เพื่อพิจารณา เนื่องจากดังที่กล่าวมาเงื่อนไขหลายข้อก็ขัดกับเหตุผลและวัตถุประสงค์ของการควบรวมกิจการเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า และแข่งขันได้ แต่อาจเป็นภาระเกินควรต่อการควบรวม และอาจจะแย้ง หรือแม้แต่ฟ้องเพื่อยับยั้งได้เช่นกันหากมองว่าได้รับผลกระทบ หรือไม่เป็นธรรม(ต้องไม่ลืมว่าในตลาดก็ยังมีคู่แข่งที่ต้องแข่งขันด้วยอยู่)

ประเด็นที่ 3 #ความเห็นและข้อกังวลที่เกิดหลังมติ กสทช. 20 ตุลาคม 2565 โดยระบุว่า แม้จะมีความชัดเจนจากการตอบข้อสอบถามของ กสทช. จากสํานักงานกฤษฎีกา ถึงกรอบอำนาจของ กสทช. โดยเฉพาะประเด็นอำนาจตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศ ฉบับปี 2561 จนเกิดการลงมตินั้น มีประเด็นต่าง ๆ ที่เห็นว่ามีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจสำหรับผู้สนใจดังนี้

หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องความหมายตามเจตนารมณ์ของ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ปี 2549 เเละ ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศ ปี 2561 โดยเฉพาะประเด็นที่หยิบยกว่า “ที่ประชุมเห็นว่าการรวมธุรกิจกรณีนี้ ไม่เป็น การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกับตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. 2549” โดยคนไปเข้าใจและขยายความว่า ก็เป็นธุรกิจเดียวกัน เเล้วทำไมถึงบอกว่า ไม่เป็น การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียว จนมีการนำไปขยายความจากการเข้าใจแค่รูป “ประโยค” แต่ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของ “ประกาศ” กันมาก

กล่าวคือ การที่ กสทช. มีอำนาจในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตในกิจการโทรคมนาคม และเป็นธรรมดาของภาคธุรกิจที่อาจมีการ จัดตั้ง เลิก ขยาย ยุบ หรือรวมกิจการ ซึ่งหากเป็นผู้รับใบอนุญาตก็ต้องดำเนินการแจ้งให้องค์กรกำกับทราบ ซึ่งฝั่งองค์กรกำกับอย่าง กสทช. นั้น ก็มีประกาศแต่ละฉบับเพื่อใช่ในการพิจารณาและดูแลกิจการแยกตามกรณีกันไป ในกรณีประกาศฉบับปี 2549 นั้น ว่าด้วยเรื่องการเข้าซื้อกิจการของผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกันตั้งแต่ 10% ขึ้นไปจนอาจมีอำนาจในการกำกับควบคุมในกิจการของผู้ประกอบการอีกราย โดยอาจจะเป็นไปได้ทั้งเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ดี อันอาจนำไปสู่การไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ทั้งนี้กรณีดังกล่าว บริษัทที่เข้าไปซื้อ และถูกซื้อ อาจจะยังอยู่ในตลาดทั้ง 2 ราย อาทิ แบรนด์ A ซื้อ แบรนด์ B มีอำนาจในแบรนด์ B เเละทั้ง A และ B ยังอยู่ในตลาด นายสืบศักดิ์ ระบุว่า กรณีแบบนี้มีตัวอย่างเเละการเกิดให้เห็นในอุตสาหกรรมอื่นทั้ง โรงพยาบาล พลังงาน สามารถไปศึกษาดูได้

ดังนั้นประกาศฉบับปี 2549 คำว่า “การรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็น การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน” จึงมาจากกรอบการพิจารณาดังกล่าว แต่การ “ควบรวม” ตามที่เอกชนเสนอมานี้เป็นการรวม A+B เกิดเป็น C หรือเรียกว่า Amalgamation จึงใช้อำนาจและกรอบการพิจารณาตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศ ปี 2561 จริง ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องเข้าใจไม่ยาก แต่หากขาดความเข้าใจในองค์รวม บริบทและกระบวนการก็จะสับสน และไม่แปลกที่แม้แต่นักวิชาการที่ไม่คุ้นชินกับระเบียบต่าง ๆ ของ กสทช. ก็อาจไม่ทราบหรือไม่เข้าใจได้เช่นกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"กรมอุตุฯ" เผยไทยตอนบน อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12 องศาฯ เตือนภาคใต้ 7 จังหวัด ยังมีฝน
สุดระทึก "กองทัพอากาศ" ส่ง F16 บินสกัดกั้น อากาศยานไม่ทราบฝ่าย โผล่ชายแดนไทย-เมียนมา
"สรรเพชญ" ไม่เห็นด้วย หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ชี้ขายใกล้โรงเรียน-ชุมชน แพร่พิษร้ายให้เด็ก-เยาวชน
ผู้การชลบุรี บูรณาการทุกภาคส่วน เข้มมาตรการ ดูแลความปลอดภัยและการจราจรให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ในช่วงวันคริสต์มาสและเทศกาลเคาท์ดาวน์ 2567
พนักงานเซเว่น น้ำใจงามช่วยสาวลาว ขับเก๋งเสยแบริเออร์ล้อชี้ฟ้า เจ็บติดคารถ
เทศกาลส่งมอบความสุขวันคริสต์มาส
"ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน" ยันไม่มีเหตุความไม่สงบฝั่งตรงข้ามชายแดน
ตร.วางแผนรวบ 2 ผู้ต้องหา ยึดของกลางยาบ้าล็อตใหญ่ แอบซุกกล่องพัสดุส่งจากเชียงราย
“รศ.ดุลยภาค” สำรวจชายแดน พบหลักฐานทหารว้าล้ำเขตแผ่นดินไทย
รมว.ต่างประเทศ ยันรัฐบาลช่วย 4 ลูกเรือประมงเต็มที่

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น