สืบเนื่องจากวันนี้ (26 ต.ค.65) สภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ได้ร่วมพิจารณาประเด็นปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามข้อเสนอของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ปรากฎว่าผ่านไปไม่ถึง 2 ชั่วโมง การประชุมทั้ง 2 ญัตติก็ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
จากนั้น นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ หลังจากระบุความคิดจะรายงานให้สภากทม.รับทราบ จะเริ่มต้นแผนจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ในอัตรา 15 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2565 ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ถอนวาระดังกล่าวออกจากการประชุม เนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบ และให้กรรมาธิการสามัญเรื่องจราจร เสนอรายงานให้ทางสภา กทม. รับทราบก่อน
โดยรายละเอียดบางส่วน สมาชิกกทม. จำนวนหนึ่งมีความเห็นว่า เรื่องการตัดสินใจเก็บค่าโดยสารนั้น ไม่ใช่อำนาจของสภากทม. แต่เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร และคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อนำไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตนรับทราบขั้นตอน แต่ด้วยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประชาชนมีความเป็นห่วง จึงต้องมาหารือร่วมกับสภากทม. โดยไม่ได้ต้องการมติที่ประชุม เพียงแต่ต้องการความคิดเห็นเท่านั้น
และในการหารือได้มีการเสนอความคิดเห็นค่อนข้างมาก โดยสก.บางท่านเสนอว่า การกำหนดราคาค่าโดยสาร เป็นคำสั่งของคสช.ให้คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาเป็นผู้ดูแล ขณะที่ทางสภากทม. ก็มีคณะกรรมการสามัญศึกษาเรื่องนี้เช่นกัน ทางประธานสภากทม.จึงชี้แจงว่า การพิจารณาอาจจะมีข้อมูลไม่ครบถ้วน และยังมีความกังวลว่าในการพิจารณาเป็นอำนาจของสภากทม.หรือไม่ จึงให้ถอญัตติดังกล่าวออกไป แต่ทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่ดีในการเริ่มต้นแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ขณะที่การจัดเก็บค่าโดยสาร ส่วนต่อขยาย ในอัตราเริ่มต้นที่ 15 บาทนั้น นายชัชชาติ ระบุว่าจะต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง โดยจะต้องมีการหารืออย่างรอบคอบที่สุด ซึ่งในการนำเสนอสภากทม. วันนี้นั้น ไม่ได้เป็นการขออนุมัติจัดเก็บในราคา 15 บาท แต่เป็นการรายงานให้สภากทม. รับทราบว่าจะมีส่วนต่างราคาเกิดขึ้นซึ่งทางด้านสภากทม. จะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้จึงต้องขอการรับรองงบประมาณจากสภากทม. เพื่อไปชดเชยในส่วนนี้ ซึ่งสุดท้ายการตัดสินใจเรื่องการจัดเก็บค่าโดยสาร คงไม่พ้นสภา กทม. อยู่ดี ส่วนจะมีการจัดเก็บเลยหรือไม่ จะต้องหารือกับทางทีมงานอีกครั้ง
นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังระบุถึงกรณี กระทรวงมหาดไทยได้ขอความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรณีการพิจารณาเรื่องขยายสัมปทาน ว่า ในเรื่องนี้ฝ่ายบริหารอาจมีการทำคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษร ความคิดเห็นของฝ่ายบริหารกทม.เป็นเช่นไร ขณะที่ทางด้านของสภากทม.ยังไม่มีความคิดเห็นในขณะนี้ หรืออาจจะมีการหารือกันในอนาคตกันต่อไป ว่ามีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร
โดยความเห็นที่ทางด้านฝ่ายบริหารจะตอบกลับกระทรวงมหาดไทย เป็นในเรื่องของแนวคิดการปฏิบัติต่างๆ อาทิเช่น จะต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ร่วมทุน ว่า การคำนวณค่าโดยสารต่างๆ ต้องมีความรอบคอบและละเอียดมากขึ้นเช่นเดียวกับการคิดอัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 โดยตนเองมองว่า ในส่วนของพ.ร.บ.ร่วมทุนนั้นเป็นสิ่งที่มีการคิดอย่างละเอียดรอบคอบอยู่แล้ว
ไม่ใช่การดำเนินการโดยคณะกรรมการเพียงไม่กี่ท่าน และในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานหรืองานโยธาที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยรับผิดชอบรวมถึงลดภาระให้แก่ กทม. เพราะที่ผ่านมาโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟฟ้าทุกสายรัฐบาลก็เป็นผู้ที่ช่วยลงทุนให้เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จ่ายก็คือประชาชน ทำให้จ่ายค่าโดยสารแพงขึ้น เพราะต้องมาจ่ายค่าโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา ยอมรับเรื่องทุกอย่างจะต้องกลับมายังสภากทม.อยู่ดี
ทั้งนี้ ตามอำนาจ คสช.มาตรา 44 ไม่ได้ให้อำนาจกทม.ในการดำเนินการ เนื่องจากมีปลัดกทม. เพียงคนเดียวที่เป็นคณะกรรมการของ คสช. ซึ่ง อำนาจทุกอย่างอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหมดแล้ว ส่วนความเห็นของกทม. ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร เพราะกทม.ไม่ใช่หน่วยงานหลัก แต่เป็นกระทรวงมหาดไทยที่นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม. และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ค้างอยู่ในครม. มานาน ซึ่งครม.สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองและยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กทม.ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่หนึ่งได้เพราะถูกนำไปรวมเป็นมูลค่าหนี้ในการขยายสัมปทาน แม้จะมีสัญญาที่ชัดเจน และทางด้านสภากทม.ได้มีการตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้แล้วก็ตาม
ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ 2 ยังติดปัญหา คือ ไม่ได้มีการนำเอาเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภากทม. ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จะต้องกลับมาที่ประชุมสภากทม.อีกครั้งแต่ในรูปแบบใดนั้น จะต้องพิจารณาอีกครั้ง