“นายกฯ” ผลักดันกฏหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศสำเร็จ 5 ฉบับ

โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นผลักดันกฎหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศ ที่สร้างความเป็นธรรมในสังคมจำนวน 5 ฉบับ จนเป็นผลสำเร็จ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศที่สร้างความเป็นธรรมในสังคม จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ผลักดันกฎหมายทั้ง 5 ฉบับดังกล่าวจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมในสังคม รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนของประเทศในหลายประการ ทั้งการสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในสังคม ให้ประชาชนได้รับความยุติธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากลเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน ดังนี้

1. พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 (อีก 90 วัน มีผลใช้บังคับ) เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผู้กระทำความผิดอาญาบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การฆาตกรรม การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ เมื่อถูกจำคุกจนพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีการติดตามจากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบ้างแต่ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย และไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ส่วนหนึ่งยังมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดในรูปแบบเดียวกันหรือรูปแบบใกล้เคียงกันซ้ำอีก สมควรมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดดังกล่าว โดยการกำหนดให้มีมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เพื่อป้องกันสังคมและผู้เสียหายจากการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นอีก และเพื่อส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งดังกล่าวอย่างเหมาะสม

“พระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการสำคัญ คือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ ที่ใช้ความรุนแรง อันจะสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในสังคม แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และคุ้มครองสิทธิผู้ต้องคำสั่งตามกฎหมาย” นายอนุชาฯ กล่าว

 

2. พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 (อีก 90 วัน มีผลใช้บังคับ) เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม โดยให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมขึ้น เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้ อันจะยังประโยชน์ให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยสะดวกและรวดเร็ว

“พระราชบัญญัติฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้โดยผ่านช่องทางที่หลากหลาย แต่ทั้งนี้จะกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอิสระ ในการอำนวยความยุติธรรม หรือการดำเนินงานโดยสุจริตของบุคคลใดไม่ได้ไม่ว่าทางใด” นายอนุชาฯ กล่าว

 

ข่าวที่น่าสนใจ

3. พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 (บางส่วนมีผลใช้บังคับถัดจากวันประกาศ / บางส่วนอีก 240 วันมีผลใช้บังคับ) เป็นการพัฒนากฎหมายไทยให้สอดคล้องกับนานาประเทศและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนยิ่งขึ้น โดยปรับเปลี่ยนโทษอาญาบางประการที่มุ่งต่อการปรับเป็นเงินตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ เปลี่ยนเป็นมาตรการปรับเป็นพินัยที่สร้างขึ้นใหม่ไม่ให้มีสภาพเป็นโทษอาญา โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าปรับที่ต้องชำระให้เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดให้สอดคล้องกัน และในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนการชำระค่าปรับได้ โดยไม่มีการกักขังแทนค่าปรับดังเช่นที่เป็นอยู่ในคดีอาญา การเปลี่ยนสภาพบังคับไม่ให้เป็นโทษอาญาโดยกำหนดวิธีการดำเนินการขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะนี้ ย่อมจะช่วยทำให้ประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางอาญา และไม่มีประวัติอาชญากรรมติดตัวอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเป็นกลไกทางกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 77 และมาตรา 258 ค. ด้านกฎหมาย (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย นอกจากนั้น สำหรับกฎหมายบางฉบับที่กำหนดให้มีโทษทางปกครอง แต่บัญญัติให้ฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาเพื่อบังคับชำระค่าปรับทางปกครองไว้แล้ว สมควรเปลี่ยนโทษดังกล่าวเป็นมาตรการปรับเป็นพินัยเช่นเดียวกัน

“พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายกลางในการพิจารณาและกำหนดมาตรการสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ซึ่งกำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องชำระเงินค่าปรับตามที่กำหนด โดยการปรับนั้นมิใช่เป็นโทษปรับทางอาญา รวมทั้งไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ ตลอดจนไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม ทั้งนี้ การนำการปรับเป็นพินัยมาใช้แทนโทษปรับทางปกครอง เพื่อให้ระบบการลงโทษปรับในกฎหมายมีมาตรฐานเดียวกัน” นายอนุชาฯ กล่าว

 

4. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (อีก 120 วัน มีผลใช้บังคับ) เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ ดังนั้น เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย สมควรกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ

“พระราชบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยมุ่งเน้นให้มีการดำเนินการทั้งมาตรการป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญตามอนุสัญญาฯ ทั้ง 2 ฉบับ รวมทั้งลดช่องว่างของกฎหมายที่ส่งผลให้การบังคับใช้และการดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้กับประชาชน และพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยพัฒนากระบวนการยุติธรรม ยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากลเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ประชาชนมีหลักประกันการคุ้มครองสิทธิที่มีมาตรฐานตามหลักสากล สร้างความเชื่อมั่นด้านกระบวนการยุติธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ ลดการละเมิดสิทธิ อีกทั้งจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสังคมโลกอีกด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว

 

5. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2565 (อีก 60 วัน มีผลใช้บังคับ) เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง ไว้อย่างชัดเจน และบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ยังไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในทรัพย์สินดังกล่าว อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติที่ให้ดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นถูกรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น ดังนั้น เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินเป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

“รัฐบาลมุ่งมั่นผลักดันกฎหมายทั้ง 5 ฉบับดังกล่าวจนเป็นผลสำเร็จ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยการมีกฎหมายที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล ย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล ผู้ประกอบการ และนักลงทุนจากต่างประเทศในการเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ตร.ปคบ.คุมตัว "บอสพอล" ดิ ไอคอน ฝากขังศาลอาญา พร้อมคัดค้านประกันตัว
อย่าลืมคนนี้! “เคลวิน” แฟนบอสมิน เป็นแค่พรีเซ็นเตอร์ หรือขึ้นแท่นบอส
โจ๋ยกพวกถล่มผิดคน หนุ่มไรเดอร์ถูกยิงดับ ย่านรามอินทรา จนท.เร่งตามตัวดำเนินคดีตามกม.
แชร์สนั่นโซเชียล! จวกยับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โยนขยะลงทะเลพัทยา
"ดร.อานนท์" เล่าเบื้องหลังตร.ทำคดี "ดิ ไอคอน" หลังได้เข้าไปช่วย "กองปราบ" วิเคราะห์รูปคดี
'ว.วชิรเมธี' เตือน 'หนุ่ม กรรชัย' อย่าทำตัวเป็นศาลเตี้ย ปล่อยให้คนใส่ร้ายป้ายสี โซเชียลเมนต์เพียบ ก่อนลบโพสต์ทิ้ง
อุตุฯ เตือน ฝนฟ้าคะนอง 31 จว.อ่วม ฝนถล่ม เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน กทม.เจอฝน 70%
"เกรียงศักดิ์" แนะรัฐบาลเร่งสร้างแบรนดิ้งประเทศไทย ควบคู่ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power จริงจัง
ถึงเรือนจำแล้ว "17 บอส ดิไอคอน " คอตกนอนคุกคืนแรก เปลี่ยนสวมชุดนักโทษ รอตรวจสภาพร่างกาย
"พาณิชย์" เปิดอบรมบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ก้าวสู่ความสำเร็จ นักธุรกิจมืออาชีพ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น