“ก.พลังงาน” เตรียมของขวัญปีใหม่ ชงตรึงค่าไฟบรรเทาผลกระทบพลังงาน

วันนี้ (27 ต.ค.65) สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้จัดเสวนาหาทางออก ฝ่าวิกฤติ “พลังงานโลก” ทางรอด “พลังงานไทย” โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ และนักแสดงชั้นนำ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อวางแนวทางรับมือต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น

ข่าวที่น่าสนใจ

นายกุลิศ กล่าวว่า ไทยและทั่วโลก ต่างเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา และจากการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ส่งผลให้การใช้พลังงานลดลง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็ปรับลดลงอย่างมาก แต่เมื่อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ความต้องการใช้น้ำมันก็กลับมาเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในช่วงเดือนก.พ.2565 ทำให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 122-140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยน้ำมันดีเซล ทำสถิติสูงสุดไปแตะ 180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนมี.ค.2565 น้ำมันดิบ แตะระดับ 145 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเบนซิน อยู่ที่ระดับ 160 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

รัฐบาลจึงได้มีมาตรการออกมารับมือ ผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ขณะนั้น มีเงินสะสมอยู่ 4 หมื่นล้านบาท โดยนำไปใช้อุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม(LPG) เป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนทยอยปรับขึ้นในราคาถังขนาด 15 กิโลกรัม 15 บาทต่อถัง จนล่าสุด ได้มีการตรึงราคาขายปลีกไว้ที่ 408 บาทต่อถัง จากเดิมที่ต้องปรับขึ้นไปที่ประมาณ 460 บาทต่อถัง

ด้านราคาน้ำมันดีเซล ที่ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก แม้จะมีการผลิตได้เองในประเทศ สัดส่วน อยู่ที่ 8% ที่เหลือ 92% เป็นการนำเข้า จากตะวันออกกลาง โดยในช่วงไตรมาส 1 ปี2565 ราคาน้ำมันปรับขึ้นไปทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทางกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 3 บาทต่อลิตร ขณะที่กระทรวงพลังงาน ปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซล จากบี 7 , บี20,บี10 เหลือแค่ บี5 ซึ่งในช่วงเวลานั้นเงินกองทุนน้ำมันฯ ยังไม่มีสถานะติดลบ ทางกลุ่มรถบรรทุกก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐตรึงราคาดีเซล รัฐบาลก็ได้แบ่งเงินจากกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาช่วยพยุงราคาไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน จนปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท

ส่วน ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า สัดส่วน 70% ซึ่งเดิมมาจากแหล่งก๊าซฯในประเทศ ก็ต้องหันไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จากต่างประเทศ หลังเกิดปัญหาเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการก๊าซฯแหล่งเอราวัณ ทำให้กำลังผลิตก๊าซฯ ลดลงเหลือประมาณ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.ที่เป็นผู้บริหารจัดการแหล่งเอราวัณฯ ก็อยู่ระหว่างเร่งการผลิตก๊าซฯอย่างเต็มที่ และที่ผ่านมารัฐได้ให้ กฟผ.เข้าไปช่วยแบกรับภาระจากการชะลอปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจนเป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า สำหรับราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3-ไตรมาส 4 ปีนี้ ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 95-98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ความต้องการใช้น้ำมันดิบยังคงมีสูงขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศ ทำให้ราคาพลังงานในช่วงปลายปียังมีความเสี่ยงด้านราคา โดยประเมินว่า ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ราคาก๊าซ LNG จะปรับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 40-50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ดูราคา spot LNG เดือน ธ.ค.นี้ คาดว่า จะอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

ขณะที่ มอร์แกนสแตนเลย์ คาดการณ์ปี 2566 ราคาLNG จะอยู่ 39 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และไตรมาส2 จะปรับขึ้นไปแตะ 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของ กลุ่มปริซึม ปตท. (PTT PRISM) มองว่า จะอยู่ประมาณ 39 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ประเมินว่า หากราคาน้ำมันดิบในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 100-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ เพราะปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ ก็ใช้เงินเข้าไปพยุงราคาดีเซล ประมาณ 2-3 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกเกิน 35 บาทต่อลิตร จากก่อนหน้าที่ต้องเข้าไปพยุงถึง 14 บาทต่อลิตร ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบแตะระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นายกุลิศ กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ยังเตรียมดำเนินมาตรการพยุงอัตราค่าไฟฟ้าในไตรมาส 4 ปีนี้ ถึง ไตรมาส 1 ของปี 2566 ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 4.72 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยหากราคาLNG สูงเกิน 25 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และโรงไฟฟ้าเอกชน หันไปใช้น้ำมันดีเซลเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซฯ ซึ่งคาดว่า จะใช้ดีเซล ประมาณ 200-300 ล้านลิตร
รวมถึงขยายระยะเวลาปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เหมาะ(ถ่านหิน) โรงที่ 8 ที่จหมดอายุ 31 ธ.ค.2564 ให้ยืดอายุต่อไปอีก 2 ปี ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มประมาณ 300 เมกะวัตต์ ในอัตราประมาณ 2-3 บาทต่อหน่วย และยังมีแผนให้นำโรงไฟฟ้าแม่เหมาะ โรงที่ 4 ที่ปลดระวางไปแล้ว กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา EIA คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีก 200 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ จะต้องเร่งการผลิตก๊าซฯจากแหล่งในประเทศ ทั้งแหล่งเอราวัณ และแหล่งอื่นๆ ตลอดจนการจัดซื้อก๊าซฯจากเมียนมา เพิ่มเติมทั้งแหล่งซอติก้า และยาดานา รวมถึงซื้อก๊าซฯเพิ่มจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ MTJA อีกทั้งการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว เพิ่มเติม รวมถึง ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) เพื่อลดการใช้น้ำมัน ซึ่งจากข้อมูลช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ยอดซื้อรถอีวี เพิ่ม 223% หรือ อยู่ที่ 13,298 คัน ซึ่งบอร์ดอีวี ก็อยู่ระหว่างจัดทำมาตรการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ เพื่อลดต้นทุนรถอีวี ให้ประชาชนเข้าถึงรถอีวี ได้ง่ายขึ้น รวมถึงดูแลเรื่องของการจัดทำระบบชาร์จไฟฟ้าที่บ้านเพื่ออำนวยความสะดวก

ขณะเดียวกัน 3 การไฟฟ้า คือ กฟผ.,กฟน.และกฟภ. ก็ได้เร่งประสานงานจัดทำเรื่องข้อมูลเชื่อมโยงการใช้แอพลิเคชันรองรับการใช้งานรถอีวีที่หลากหลายยี่ห้อ ให้สามารถเชื่อมฐานข้อมูลทั้งระบบ และในช่วงกลางปี 2566 กฟผ.จะเริ่มจัดทำระบบชำระค่าบริการชาร์จไฟฟ้าของรถอีวีที่ชำระร่วมกันได้

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังเร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เข้าสู่ระบบตามแผนพีดีพี ฉบับใหม่ รวมกว่า 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯ ถึง 6,000 เมกะวัตต์ และมีโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ.อีกประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ แม้ว่า กฟผ.จะมีศักยภาพทำได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์ใน 20 ปี ตลอดจนพื้นที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ. ที่หากใน 20ปีข้างหน้า เลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ยังมีศักยภาพที่จะทำโซลาร์ฟาร์มได้อีก ทำให้ต่อไป กฟผ.จะกลายเป็นผู้ลงทุนพลังงานสะอาด รวมถึงรัฐยังเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมอีก 5 เท่า เป็น 1,500 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าจากขยะด้วย

ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 เมกะวัตต์ในอนาคต ภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบส่งไฟฟ้าให้ทันสมัย ทำเรื่องสมาร์ทกริด และสมาร์ทมิเตอร์ ให้พร้อมรองรับเรื่องของพลังงานหมุนเวียน และรถอีวี ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึง ยังต้องดำเนินการเรื่องของเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ เช่น ระบบกักเก็บคาร์บอน CCS และ CCUS ตลอดจนการทำเรื่องของกรีนไฮโดรเจน และในการประชุม APEC 2022 ในเดือน พ.ย.นี้ ประเทศไทยจะมีการลงนาม MOU กับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เข้ามาทำเรื่องของ CCUS รถอีวี ไฮโดรเจน และการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เป็นต้น

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมจัดทำของขวัญปีใหม่ให้คนไทย โดยจะเสนอในการประชุม กพช.เดือน พ.ย.นี้ พิจารณาทั้งเรื่องของ LPG และค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งในส่วนของค่าไฟ ยังจะดูกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย ซึ่งมีอยู่ประมาณ และ 500 หน่วยต่อ รวมถึงจะมีมาตรการเสริมสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วย

นายกุลิศ กล่าวถึงความคืบหน้าการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ หลังจากกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาค้ำประกันเงินกู้ วงเงิน 150,000 ล้านบาท ตามกำหนดระยะเวลา 1ปี (6 ต.ค.65-5ต.ค.66) นั้น ทาง สกนช.อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดการใช้เงิน และแผนชำระหนี้มาเสนอ คาดว่า จะออกประกาศเชิญชวนให้สถาบันการเงินร่วมเสนอเงินกู้ได้ต้นเดือนพ.ย.นี้ และน่าจะได้รับเงินกู้ก้อนแรกในเดือน พ.ย.นี้ เบื้องต้น แผนเงินกู้ จะเป็นการทยอยกู้เงิน 12 งวด โดย 1-2 งวดแรก วงเงินอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท งวดต่อไปวงเงิน 20,000 ล้านบาท แต่จะต้องกู้เงินให้เสร็จตามระยะเวลาเงื่อนไข 1 ปี แต่ในส่วนของการชำระเงินกู้ยังดำเนินการไปต่อเนื่อง โดยตามแผนที่วางไว้ประมาณ 3 ปี ซึ่งในอดีตที่เคยกู้เงิน 70,000 ล้านบาท จะใช้เวลาชำระคืนประมาณ 3-4 ปี

นางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ความขัดแย้งของรัสเซีย และยูเครน ที่เกินเวลายาวนานมากว่า 8 เดือน และน่าจะยังยืดเยื้อต่อไปอีกนั้น ทำให้เกิดวิกฤติพลังงานไปทั่วโลก โดยทำให้อุปทานลดลง และราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับสูง และกระทบภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะรัสเซีย เป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลก และส่งออกก๊าซธรรมชาติ อันดับ 1 ของโลก สำหรับในส่วนของสหภาพยุโรป (อียู) ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เพราะพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากยุโรปในส่วนส่วนสูงมาก โดยนำเข้าก๊าซธรรมชาติ สัดส่วน 40% น้ำมัน 27% และถ่านหิน 46% คิดเป็นมูลค่า 3,714 ล้านบาท ส่งผลให้ยูโรปต้องออกกฎหมาย และมาตรการต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

สำหรับประเทศไทย การแก้ปัญหา และรับมือผลกระทบให้กับประชาชน คล้ายๆ กับของอียู ส่วนตัว ต้องการให้คนไทย ประหยัดการใช้พลังงาน ไฟฟ้าอย่างจริงจังมากกว่านี้ ส่วนการที่รัฐบาลช่วยเรื่องาคาพลังงาน เป็นสิ่งที่ดี แต่โดยส่วนตัว อยากให้ภาครัฐ พิจารณาราคาที่จะช่วยเหลือให้เหมาะสมกว่านี้ เพราะการให้ประชาชนยังต้องจ่ายค่าไฟฟ้า หรือน้ำมันในราคาต่ำเกินไป เพราะรัฐอุดหนุน ก็อาจไม่ได้ตระหนักถึงการประหยัดอย่างจริงจัง เพราะยังรู้สึกว่า ยังสามารถจ่ายได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ผู้นำสูงสุดปัดอิหร่านไม่มีกองกำลังตัวแทน
ฮูตีเคลมผลงาน F/A-18 โดนสอยร่วงทะเลแดง
สื่อทำเนียบฯ จัดเต็มฉายาครม.ปี 67 "รัฐบาล (พ่อ) เลี้ยง" นายกฯท่องโพย วาทะแห่งปี "สามีคนใต้"
“ว้าแดง”เหิมหนัก! สั่งคนไทยห้ามเก็บของป่า ชาวบ้านผวา-ซ้อมอพยพถี่ยิบ
เมีย-แม่ยาย หอบเงินล้าน บุกติดสินบนตำรวจ ช่วยผัวค้าเฮโรอีน สุดท้ายถูกซ้อนแผนโดนรวบตัว
ไทยตอนบนอากาศยังหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 12 องศา ใต้เจอฝนฟ้าคะนองบางแห่ง กทม. มีหมอกบางตอนเช้า ร้อนสุด 31 องศา
ฮีโร่โอลิมปิคเหรียญทองน้องอร “ฉายาสู้โวย” ร่วมแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ในงานกีฬาประจำปีอบต.ไทยสามัคคี พร้อมลงแข่งขันตีกอล์ฟบก สร้างความสนุกสนานเฮฮา
"สธ." ยันพบชาวเมียนมา ป่วยอหิวาฯ รักษาฝั่งไทย 2 ราย อาการไม่รุนแรง
สุดทน "พ่อพิการ" ร้อง "กัน จอมพลัง" หลังถูกลูกทรพี ใช้จอบจามหัว-ทำร้ายร่างกาย จนนอน รพ.นับเดือน
สลด กระบะชนจยย.พลิกคว่ำตก "ดอยโป่งแยง" เชียงใหม่ เจ็บตายรวม 13 ราย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น