“ประชาธิปัตย์” หมายถึง…. “ประชาชนเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย” …. โดยเริ่มจัดตั้งพรรคขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2489 หรือเมื่อ 76 ปี ก่อน วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งครั้งนั้น เพื่อต้องการให้เป็นฝ่ายค้าน คานอำนาจของ “นายปรีดี พนมยงค์” ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็น “จอมเผด็จการ” …..มี “นายควง อภัยวงศ์” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นคนแรก และมีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่งเก้าอี้เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก พร้อมกับใช้สัญญาลักษณ์ “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” มีฟอนต์ข้าวประดับอยู่เป็นขอบ แสดงความหมายถึงการเอาชนะมาร หรือความชั่วร้ายต่างๆ ฟ่อนข้าว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ใช้ “สีฟ้า” เป็นสีประจำพรรค ซึ่งหมายถึง อุดมการณ์อันบริสุทธิ์ พร้อมคำขวัญประจำพรรค ที่ว่า “สจฺจํเว อมตา วาจา” ความหมายคือ “คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย”
“พรรคประชาธิปัตย์” ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไร้ซึ่งการครอบงำในการแต่งตั้งหัวหน้าพรรค … เหล่านี้คือความภาคภูมิใจบรรดาสมาชิกพรรค หลายคนมักจะสะท้อนออกมาเป็นคำพูด ถ่ายทอดสู่ประชาชนให้ได้ฟังอยู่เสมอว่า 76 ปี ที่ผ่านมา “ประชาธิปัตย์” เป็นพรรคที่มีความเป็นสถาบันทางการเมืองมากที่สุด เนื่องจากไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของพรรค และมีระบบเลือกตั้งกรรมการพรรค หัวหน้าพรรค โดยทุกๆ ตำแหน่ง ไม่มีใครมาครอบงำชี้นิ้วใช้อำนาจสั่ง
จากแหล่งข้อมูลระบุไว้ว่า “พรรคประชาธิปัตย์” เว้นวรรคทางการเมืองไปช่วงหนึ่ง ในยุค“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ได้ทำการรัฐประหาร ปี พ.ศ.2500 และไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกองหน้าทวงคืนประชาธิปไตย ซึ่งได้เว้นวรรคยาวมาจนถึงราวปี 2511 ร่วม 10 ปี ก่อนจะเริ่มเข้ามามีบทบาทอีกทีสมัย … กระทั่งได้เปิดให้มีการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2511 ยาวไปจวบจน “จอมพลถนอม ถนอม กิตติขจร” ยึดอำนาจตัวเอง พรรคประชาธิปัตย์ ก็เว้นวรรคทางการเมืองไปอีก มีเพียงสมาชิกพรรคไม่กี่คนเคลื่อนไหวคัดค้านในนามส่วนตัว เช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชน
จากนั้น “ประชาธิปัตย์” ได้ขึ้นเป็นรัฐบาลในปี 2518 โดยหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ก่อนสมาชิกบางส่วนจะแยกตัว และได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งกลางปี 2519 กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตามหน้าประวัติศาสตร์ที่ได้จารึกข้อมูลไว้
ช่วงปี 2523 ประชาธิปัตย์กลายเป็น “พรรคของเรา คนของเรา” ของชาวปักษ์ใต้ ..เมื่อสนับสนุน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขวัญใจคนปักษ์ใต้ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลเปรม 1 ไปจนถึงรัฐบาลเปรม 5 และถึงแม้ปี 2529 พรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้งท่วมท้น นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคเวลานั้นก็ไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ โดยเปิดทางให้ พลเอกเปรม ดำรงตำแหน่งต่อไป … เข้าสู่ พ.ศ. 2531 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมเป็นรัฐบาลในครม.ชาติชาย ก่อนจะเกิดการรัฐประหาร 23 ก.พ. 2534