สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ต.ค.65 ที่ประชุม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม
ล่าสุด ทางด้านนายเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ นักการเงินการคลัง และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลังและอดีตบอร์ดสภาการศึกษาฯ ให้ความเห็นถึงการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC และการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม ตามประกาศ ปี 2561 ของกสทช. ว่า ตนเชื่อมั่นว่าการควบรวมดังกล่าวจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีมาพัฒนามาตรฐานการศึกษาของประเทศไทย จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
“การออกเงื่อนไขของกสทช.นั้นผมมองว่าเป็นทั้ง “ยาขม” และ “ความท้าทาย” ต่อการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจของทรูและดีแทค แต่มั่นใจว่าทรูและดีแทคจะสามารถปรับยุทธศาสตร์เพื่อรองรับเงื่อนไขของ กสทช. ได้ในที่สุด ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้ก้าวไกล” นายเกียรติชัย กล่าว
นายเกียรติชัย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นสมาชิกบอร์ดสภาการศึกษามา 5 ปี ตนได้ประจักษ์ถึงบทบาทอันสำคัญของเทคโนโลยีที่จะมาช่วยพัฒนามาตรฐานการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และยังคงยืนยันสนับสนุนการควบรวมครั้งนี้ ดังเช่นที่เคยเขียนเสนอความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับแผนการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค ถึงกสทช. ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา ตนเชื่ออย่างแรงกล้าว่าแผนการควบรวมระหว่าง 2 บริษัทโทรคมนาคมครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย และที่สำคัญด้วยสินค้าและบริการที่หลากหลายมากกว่าเดิมของทั้ง 2 บริษัทเทคโนโลยีนี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจโทรคมนาคมจะสามารถนำเสนอโซลูชันที่รวดเร็วในราคาที่ย่อมเยาว์ให้แก่ภาคการศึกษาไทยที่ยังมีความเหลื่อมล้ำและยังเกิดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนในสังคมในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลการศึกษา เช่น ครูที่มีประสบการณ์และมีคุณสมบัติที่เหมาะสม หนังสือเรียน เทคโนโลยี ตลอดจนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ แก่โรงเรียน การควบรวมบริษัทโทรคมนาคมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด “นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการศึกษา” ได้แก่
(1) หนังสือดิจิทัลและแท็บเล็ต
(2) การพิมพ์ 3 มิติ
(3) เทคโนโลยีโลกเสมือน
(4) เกมมิฟิเคชั่น
(5) เทคโนโลยีคลาวด์
(6) ปัญญาประดิษฐ์
(7) เทคโนโลยีโมบายล์