ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคราวประชุม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 มีมติ อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้ต่างชาติถือครองที่ดิน 1 ไร่ แลกการลงทุน 40 ล้าน กระแสรุกลาม บานปลาย เป็น “กฎหมายขายชาติ” ไม่ใช่ฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาจมีผลกระทบประชาชนคนไทยไม่มีที่อยู่อาศัยหรือไม่ อย่างไร
ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” ปรมาจารย์ทางกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญคนดัง ในประเด็นร้อนแรงดังกล่าว กล่าวว่า เท่าที่ติดตามกระแสสังคมส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย รัฐบาลขาดประชาสัมพันธ์น้อยไป ทำให้ประชาชนเข้าใจสับสนและคลาดเคลื่อนไปว่า การให้คนต่างชาติถือครอง ทำให้เสียดินแดน เป็นกฎหมายขายชาติ หากเป็นเช่นนั้นจริง ตัวอย่างในอดีต ได้แก่ สนธิสัญญาเบาริ่ง ทำให้เสียสิทธิสภาพอาณาเขตทางศาลในสมัยรัชกาลที่ 4 กรณีกฎหมายที่ถูกตราหน้าเป็นกฎหมายขายชาติ จำนวน 11 ฉบับ ได้แก่ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 หรือกรณี พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542, พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 เป็นต้น แต่ในประเทศไทย ในสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ก็เคยออกกฎกระทรวงให้ต่างชาติถือครองที่ดินเช่นกัน จะอ้างเหตุผลใด ตามที่พรรคเพื่อไทยแถลงการณ์คัดค้าน วานนี้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565 เป็นการขว้างงูไม่พ้นคอ กลืนน้ำลายตนเอง ผมจะอธิบายให้ความรู้กฎหมายให้แก่ประชาชน เป็นกลางทุกฝ่าย ไม่สนับสนุนฝ่ายใด แต่จะให้ความรู้แง่มุมความรู้ข้อกฎหมาย เพื่อเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ให้แก่ประชาชนว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวทำให้เสียดินแดนหรือเป็นกฎหมายขายชาติหรือไม่ ดังนี้
(1) กฎหมายที่ดินที่ให้สิทธิคนต่างชาติซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่นั้น มีอยู่ในประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 96 ทวิ และกฎที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 153/2546 ลงวันที่ 21 เมษายน 2546 มาตรา 96 ทวิและมาตรา 96 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดิน เพื่อใช้เป็นที่อยูอาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497)
.
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 ที่ออกตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 96 ทวิ ออกโดยสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดเงื่อนไข การได้มาและถือครองที่ดิน ได้แก่ 1)กลุ่มที่มีสิทธิ คือให้สิทธิการถือครองที่ดินคือกลุ่มที่รวย, กลุ่มเกษียณอายุ, กลุ่มที่ต้องการทำงานในไทย และกลุ่มมีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ 2)ต้องนำเงินมาลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท 3)โดยลงทุนดำเนินกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ถึงจะมีสิทธิซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ ต้องเป็นที่ดินในเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายผังเมือง จะไปซื้อที่ดินแบบอื่นไม่ได้ ดังนั้น หากนำที่ดินไปใช้ผิดเงื่อนไข เช่น เอาไปทำธุรกิจ, การค้า, เก็งกำไร อาจถูกบังคับขายคืน ให้ซื้อเป็นที่อยู่อาศัยอย่างเดียว ห้ามขาย หากขายหรือแบ่งขาย จะถูกระงับสิทธิทันที ตามที่ระบุในสัญญาซื้อขาย ที่ดินสามารถโอนให้ลูกหลานได้ แต่ลูกหลานห้ามขายต่อเช่นกัน
เท่าที่ทราบระหว่างปี 2545 ถึง 2565 ระยะเวลา 20 ปี ต่างชาติเข้าเกณฑ์เงื่อนไขและได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยเพียง 8 รายเท่านั้น การได้มาและสิ้นสิทธิในที่ดินของคนต่างด้าวเป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน
(2)กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ นั้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินได้ชี้แจงยืนยันชาวต่างชาติที่ได้สิทธิ LTR Visa ต้องนำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ในธุรกิจหรือกิจการตามที่ร่างกฎกระทรวง กำหนด และต้องคงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงจะสามารถยื่นเรื่องขอใช้สิทธิถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวใหม่ (Long-term resident visa : LTR) แก่กลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ รวมทั้งการศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิในการถือครองที่ดินของคนต่างชาติเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการนำเงินมาลงทุนในประเทศไทย
ซึ่งกรมที่ดินได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนแล้ว ได้ข้อสรุปว่า กฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิคนต่างชาติถือครองที่ดินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้ว การกำหนดแนวทางเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุน เห็นควรดำเนินการเพียงแค่การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการให้สิทธิในการขอถือครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้รองรับเฉพาะชาวต่างชาติ 4 กลุ่มที่ได้รับสิทธิ LTR Visa เท่านั้น