จากกรณีมีรายงานว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทั้งอาญาและวินัย นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สมุทรปราการ กับพวก 5-7 ราย กรณีทุจริตการจัดสรรเงินอุดหนุนแก่วัดในจังหวัดสมุทรปราการโดยมิชอบ หรือทุจริตเงินทอนวัด ช่วงปี 2554-2556 จำนวนกว่า 20 โครงการ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 100 ล้านบาท
ย้อนรอยคดีทุจริตเงินทอนวัดสมุทรปราการ หลัง ป.ป.ช.ชี้มูล “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” กับพวก เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้ นายกอบจ. จับตามีการเมืองมาเอี่ยวหรือไม่ เพื่อบีบกลุ่มปากน้ำไม่ให้ย้ายค่ายจากพปชร.
ข่าวที่น่าสนใจ
สำหรับคดีดังกล่าว ไม่ใช่คดีเงินทอนวัดอันโด่งดังเมื่อปี 2560 ที่มีพระเถระชั้นผู้ใหญ่และผู้บริหารระดับสูงของ สำนักพระพุทธศาสนา หรือ พศ.ถูกจับกุม แต่คดีนายชนม์สวัสดิ์เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นโดยในปี 2554-2556 อบจ.สมุทรปราการ สมัยนายชนม์สวัสดิ์ เป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ กับพวก ได้อนุมัติการจัดสรรเงินอุดหนุนแก่วัดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อทำโครงการต่างๆภายในวัด จำนวน 68 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณ 836,129,125 บาท
มีรายละเอียดดังนี้
1. ปีงบประมาณ 2554 จำนวน 14 โครงการ งบประมาณ 111,129,125 บาท
2. ปี งบประมาณ 2555 จำนวน 26 โครงการ งบประมาณ 281,500,000 บาท
3. ปี งบประมาณ 2556 จำนวน 28 โครงการ 443,500,000 บาท
จากนั้นเดือนสิงหาคม 2556 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. สมุทรปราการ ได้สุ่มตรวจวัดที่ได้รับเงินอุดหนุนจาก อบจ.สมุทรปราการ ในปีงบประมาณ 2554 และ 2555 จำนวน 17 วัด พบว่างานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ งานล่าช้ากว่ากำหนด และไม่มีสงวนสิทธิ์ค่าปรับไว้ นอกจากนี้ยังพบความไม่ชอบมาพากลหลายประการ เช่น งบอุดหนุนวัดดังกล่าวสูงขึ้นทุกปี บางวัดไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกวัตถุประสงค์
เช่น กรณีปี 2554 งบอุดหนุนให้ก่อสร้างเตาเผาศพ แต่พบว่า การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา งบที่ให้ไปไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เพราะมีการจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้าให้ผู้รับเหมา 50% ทั้งที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาใดๆ และผู้รับเหมาส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมารายเดียวกันเกือบทั้งจังหวัด แต่อบจ.สมุทรปราการ กลับไม่ดำเนินการตรวจสอบว่าการใช้จ่ายเงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่
หลังจากสตง.สมุทรปราการได้ตรวจสอบเบื้องต้น จึงส่งเรื่องให้สตง.ส่วนกลางดำเนินการ เมื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานเสร็จสิ้น สตง.ก็ได้ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 โดยกระบวนตรวจสอบของป.ป.ช.มีดังนี้
-10 มีนาคม 2558 ป.ป.ช.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวน นายชนม์สวัสดิ์กับพวก รวมทั้งบริษัทคู่สัญญากับวัดต่างๆ โดยมอบหมายให้ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
-ปี 2561 อนุกรรมการไต่สวนสรุปสำนวนส่งป.ป.ช.ชุดใหญ่ แต่ป.ป.ช.ชุดใหญ่ตีกลับให้สอบเพิ่ม
-3 กันยายน 2563 ป.ป.ช.ตีกลับสำนวนอนุกรรมการไต่สวนอีกรอบ โดยให้อนุไต่ส่วนเพิ่ม
– 31 ตุลาคม 2565 ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติชี้มูลนายชนม์สวัสดิ์กับพวก
จากปี 2556 ที่ป.ป.ช.รับเรื่องจนถึงวันนี้ ระยะเวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี ป.ป.ช.เพิ่งจะมีมติชี้มูลนายชนม์สวัสดิ์กับพวก ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้อาจจะมีประเด็นทางการเมืองมาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เพราะเวลานี้มีข่าวลือแพร่สะพัดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า นายชนม์สวัสดิ์จะขนทัพส.ส. กลุ่มปากน้ำทั้ง 6 คนออกจากพรรคพลังประชารัฐ เพื่อไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น เนื่องจากมีความขัดแย้งกับกลุ่มนายสุชาติ ชมกลิ่น มาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ที่นายสุชาติและพลเอกกนิษฐ์ ชาญปรีชญา ส.ว.คนสนิทของพลเอกประวิตร ไปสนับสนุน นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ให้ลงสมัคร ส.ส.เขต 7 สมุทรปราการ ทั้งที่นายชนม์สวัสดิ์วางตัวนายต่อศักดิ์ อัศวเหม ลงสมัครไว้แล้ว สุดท้ายนายชนม์สวัสดิ์ต้องจำใจหลีกทาง แล้วให้นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ไปลงปาตี้ลิสต์แทน ต่อมากลุ่มส.ส.ปากน้ำได้มีการถอนแค้นด้วยการโหวตไม่ไว้วางใจนายสุชาติในการลงมติศึกซักฟอกรอบที่ผ่านมา ร้อนถึงพลเอกประวิตรต้องลงพื้นที่เมืองปากน้ำ เพื่อเคลียร์ใจกลุ่มส.ส.ปากน้ำ และรับปากส.ส.ปากน้ำจะได้เก้าอี้รัฐมนตรีแน่นอน แต่วันนี้กลุ่มส.ส.ปากน้ำก็ยังไม่ได้ อีกทั้งล่าสุดยังมีภาพนายชนม์สวัสด์ไปกินข้าวกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล แม่ทัพภูมิใจไทย ทำให้กระแสข่าวส.ส.ปากน้ำย้ายพรรคหนาหูมากขึ้น ดังนั้นมติป.ป.ช.ครั้งนี้ จึงอาจมีสัญญานมาจากผู้มากบารมีมาเกี่ยวข้องหรือไม่ เพื่อบีบให้นายชนม์สวัสดิ์ยังอยู่กับพลังประชารัฐต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง