วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กระแสข่าว นายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยศรีวิไลย์ นายจตุพร พรหมพันธุ์และคณะแกนนำกลุ่มหลอมรวมประเทศไทย จะยื่นคัดค้านร่างกฎกระทรวงดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยวันที่ 31 ตุลาคม ส.ส.เต้ มงคลกิตต์ สุขสินธารานนท์ ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อคัดค้านร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์และมุมมองทางกฎหมาย ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ”ดร.ณัฎฐ์”ปรามาจารย์ทางกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญคนดัง ได้ให้ความเห็นและอธิบายเพื่อให้ความรู้กฎหมายแก่ประชาชน ที่น่าสนใจกล่าวว่า เรื่องนี้ เป็นกระแสการเมือง ไม่ใช่ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของ กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด ของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะอธิบายกระบวนการตรากฎ และมติคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนอีกด้านหนึ่ง โดยใช้วิจารณญาณในการรับฟังอย่างมีสติ ดังนี้
(1)กฎกระทรวง มีสถานะเป็นกฎหมาย ที่มีลำดับศักดิ์ ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ ในการตรากฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร คือ เจ้ากระทรวง สรุปง่าย คือ กฎกระทรวงไม่ใช่พระราชบัญญัติ ไม่ต้องผ่านการออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ(รัฐสภา) ให้อำนาจฝ่ายบริหารสามารถออกได้ แต่กฎกระทรวงที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจหรือเกี่ยวกับเงิน ต้องผ่านมติความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี สถานะกฎกระทรวง ภาษากฎหมาย เรียกว่า “กฎ”
(2)ปัจจุบัน กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ.2545 ลงนาม(ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 119 ตอนที่ 7 ก วันที่ 18 มกราคม 2545)ออกตามความในมาตรา 96 ทวิ 96 ตรีโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน(ฉบับที่ 8) พ.ศ.2542
ตราบใด ร่วงกฎกระทรวงฉบับใหม่ ยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันมีผลบังคับใช้ กฎกระทรวงฉบับปี 2545 ดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่
(3)รัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น เป็นอันใช้บังคับมิได้
คำว่า การกระทำใด เป็นการบัญญัติขึ้นใหม่
แต่เดิมคำว่า “การกระทำใด” เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2492 ในอดีต อำนาจตีความ เป็นอำนาจฝ่ายสภา ไม่ใช่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ บังคับไว้ ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับจะต้องรับฟังความเห็น วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นให้รอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลความคิดเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชนและนำมาประกอบในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ให้รัฐจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เหมาะสมกับบริบทต่างๆที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ตามมาตรา 77 วรรคสอง
“กฎกระทรวง” แม้ลำดับศักดิ์ต่ำกว่า พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา ถือว่า เป็นกฎหมาย จะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขมาตรา 77 ประกอบมาตรา 258
(4) อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน องค์กรอิสระ องค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 231 (2) ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน หากเห็นว่า กฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
ปัญหาว่า ร่างกฎกระทรวงอยู่ในขั้นตอน ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ไว้ เท่ากับร่างกฎกระทรวงที่ ครม.อนุมัติ เป็นเพียงหลักการเบื้องต้นเท่านั้น จะต้องนำมาเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
ประชาชน เห็นต่าง ย่อมสามารถคัดค้านได้ มีระยะเวลาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี
(5)กรณีกฎกระทรวง มีสถานะเป็นกฎ แต่หากว่า เป็นคดีพิพาทความชอบด้วยกฎหมายที่กฎ ออกโดยมติคณะรัฐมนตรีหรือความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 11(2) ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ให้คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลปกครองสูงสุด