นพ.ธนิต จิรนันท์ธวัช แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีประกาศโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยอธิบายว่า ประกาศดังกล่าว สรุปได้สั้นๆ ดังนี้ แบ่งผู้ป่วยที่แพทย์ผู้รักษาสามารถพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ และมุ่งเน้นการรักษาแบบประคับประคอง เป็น 2 กรณี คือ
1.ผู้ป่วยที่แสดงเจตจำนงไว้ล่วงหน้า โดยผู้ป่วยแจ้งไว้ด้วยตนเอง,การประชุมครอบครัวร่วมกับผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจแทนตัวผู้ป่วย
2.ผู้ป่วยที่ไม่ได้แสดงเจตจำนงไว้ล่วงหน้า ซึ่งเท่ากับกำหนดให้แพทย์พิจารณาผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ 2 ใน 4 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1.อายุ 75 ปี 2.ดัชนีโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ 3.ระดับความเปราะบางของผู้ป่วย และ4.เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต
นพ.ธนิต ระบุอีกว่า ประกาศนี้ถือว่าเป็นประกาศแรกของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการพิจารณาไม่ใส่ท่อหายใจในผู้ป่วยโรคโควิด และมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเหมาะสม สามารถให้แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยโควิดที่โรงพยาบาลอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ผู้ป่วยโควิดมีระบบหายใจล้มเหลวจำนวนมากเกินกว่าระบบการดูแลด้วยเครื่องช่วยหายใจจะรองรับได้ และเพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกกับประกาศนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นผู้ป่วยสูงอายุมากๆ เป็นผู้ป่วยที่มีโรคร่วมรุนแรงหลายโรค เป็นผู้ป่วยที่มีความเปราะบางอย่างมาก หรือเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต
อย่างไรก็ตาม ประกาศนี้จะไม่ใช่ผู้ป่วยที่อายุไม่เยอะมากเช่น 60 กว่า มีโรคร่วมไม่มาก แข็งแรงทำงานได้ ผู้ป่วยเช่นนี้จะไม่ใกล้เคียงเกณฑ์ของผู้ป่วยตามประกาศนี้แม้แต่น้อย จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องวิตก กังกล ห่อเหี่ยวใจกับประกาศนี้ เพราะประกาศนี้เป็นเกณฑ์ทางการแพทย์ที่ปรับเข้ากับสภาพทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และใช้กับผู้ป่วยที่มีลักษณะเฉพาะเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิดทั่วไป ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยโควิดอาการหนักวิกฤตยังดำเนินต่อไป