1-2 เดือนที่ผ่านมาใครเป็นแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์หรือเป็นคอการเมืองที่ชื่นชอบ “นายหัวชวน” ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นความผิดปกติผิดสังเกตของตำนานนักการเมืองเจ้าของฉายา “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” ที่ออกมาสะบัดสำนวนฟาดงวงฟาดงา กรีดใบมีดถึงพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เป็นคู่แข่งในการเลือกตั้งคราวหน้า และกำลังมีประเด็นขัดแย้งกันอยู่เพราะดันมีอดีตส.ส.และแกนนำในพรรคประชาธิปัตย์หลายคนย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ที่ว่านี้
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 19 ก.ย. 2565 ชวนก็ออกมาพูดเรื่องนี้ทีนึงแล้ว “มีหลายคนที่เข้ามาปรึกษา จึงให้ข้อคิดไปว่า ต้องคิดให้ดี ไปอยู่พรรคเฉพาะกิจ ก็เพียงชั่วคราว เมื่อเสร็จภารกิจแล้ว พรรคก็ล้มไป แต่ถ้ามีความจำเป็นจะต้องไป ก็คงห้ามไม่ได้” ชวนระบุ สัปดาห์ก่อนหน้านี้ชวนก็ออกมาเตือนสติเรื่องส.ส.แห่ย้ายพรรคไปรวมกับพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ ดูดส.ส.จากทุกพรรคไปรวมกัน สนับสนุนคนใดคนหนึ่งพอเสร็จภารกิจแล้วก็แยกย้ายยุบพรรคกันไป วานนี้ 1 พ.ย.2565 นายหัวชวนก็ออกมาสะบัดมีดโกนอีกดอก “ เรื่องนี้คุณจุรินทร์ เคยพูดไปแล้วว่ามีคนไปตั้งพรรคใหม่แล้วก็ล่าเหยื่อ ขอโทษครับ… ล่าเพื่อนๆ ในพรรค มีคนมาบอกผมว่ามีคนที่ออกไป แล้วมาชวนให้ออกจากพรรค บางคนก็ออก บางคนก็ไม่ออก ก็ต้องรอดูต่อไป เพราะยังมีเวลาอยู่ว่าจะออกไปและเข้ามากี่คน…..ใครที่มาลาผม ผมก็เตือนเขาว่าอย่าลาออกเลย เพราะใครออกจากพรรคไปเท่าที่ดูมักจะมีปัญหาภายหลังทั้งนั้น …..ทุกคนที่มาบอกกล่าวผม ผมก็จะบอกกับทุกคนว่าไม่อยากให้ออกเพราะพรรคถือว่าทุกคนมีคุณภาพ ที่ออกไปส่วนใหญ่ได้เป็นรัฐมนตรีของพรรค เมื่อไปอยู่พรรคอื่นผมไม่แน่ใจว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่” ชวนกล่าว
ไม่บอกก็รู้ว่าพรรคที่กำลังเป็นประเด็นหักเหลี่ยมเฉือนคมกับพรรคประชาธิปัตย์ก็คือพรรครวมไทยสร้างชาติของ “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคย์ ที่ปรึกษานายกฯ อดีตรมว.ยุติธรรม ซึ่งไม่บอกก็รู้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่รวบรวมเด็กเก่ามาจากพรรคประชาธิปัตย์ ขุนพลค่ายสีฟ้าไว้บานเบอะ อาจจะเรียกว่าพรรคประชาธิปัตย์สาขา 2 ก็ได้ แม้วันนี้จะเกาเหลาขบเหลี่ยมกันแต่อดีตทั้งหมดก็เคยอยู่ร่วมชายคาค่ายเดียวกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ , สามารถ มะลูลีม, วิทยา แก้วภราดัย, พ.อ.เฟื่องวิชชุ อนิรุทธเทวา, ชื่นชอบ คงอุดม ฯลฯ รวมถึงตัว “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส ที่แอบช่วยพรรคแบบเปิดเผยอยู่ และอนาคตเชื่อว่าอาจมีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อีกหลายคนย้ายออกมาอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติหลังนี้ โดยเฉพาะหาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯตัดสินใจเล่นการเมืองและมารวมหัวจมท้ายกับพรรคนี้ แม้วันนี้อุดมการณ์ทางการเมืองจะไม่ตรงกัน แต่อนาคต 2 พรรคพี่น้องก็อาจร่วมงานกันได้ถ้าได้ร่วมรัฐบาลเดียวกัน แม้วันนี้จะแตกหักห่ำหั่นกันสุดฤทธิ์ในทางการเมือง
ตลอด 76 ปีทางการเมืองไม่มีใครปฏิเสธความเป็น “สถาบันการเมือง” ของพรรคประชาธิปัตย์ ย้อนอดีตไปตั้งแต่วันแรกที่มีการก่อตั้งพรรคเมื่อ 5 เม.ย.2489 ที่เป็นวันก่อการก่อตั้งพรรคโดยควง อภัยวงศ์ กับพรรคพวกครั้งแรกที่บริษัทของตัวเองย่านเยาวราช แต่ถือฤกษ์ดีในวันจักรี 6 เม.ย.2489 เป็นวันก่อตั้งพรรค นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคมาแล้ว 8 คน 1.พ.ต.ควง อภัยวงศ์ 2. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช 3.พ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ 4.พิชัย รัตตกุล 5.ชวน หลีกภัย 6.บัญญัติ บรรทัดฐาน 7. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ 8. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในจำนวนนี้เป็นนายกฯ 4 คน คือ 1.พ.ต.ควง 2.ม.ร.ว.เสนีย์ 3.ชวน และ 4. อภิสิทธิ์ มีเลขาธิการพรรคมาแล้วทั้งสิ้น 16 คน ในจำนวนนี้มี “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รับบทเป็นเลขาธิการพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง ใครตามพรรคประชาธิปัตย์มาตลอดเป็นแฟนพรรคสีฟ้าแบบเข้าเส้น จะทราบดีว่าพรรคนี้มีการเปลี่ยนแปลงถ่ายเลือดเปลี่ยนอวัยวะสำคัญกันอยู่บ่อยครั้ง แปลกแต่จริงที่หัวหน้าคณะผู้ก่อการแตกตัวแยกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ส่วนใหญ่ล้วนแต่มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคแทบทั้งสิ้นจะมีที่ก่อการแยกตัวออกไปแล้วไม่ใช่เลขาธิการพรรคก็มีแต่สมัคร สุนทรเวช คนเดียวเท่านั้น
ไล่ตั้งแต่ยุคแม่บ้านพรรคคนแรกคือพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ก่อตั้งพรรคก้าวหน้าแล้วมารวมพรรคกับพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ได้แค่ 2 ปีเศษ ( 6 เม.ย.2489 -16 ก.ย.2491) ก็ตีจากพรรคประชาธิปัตย์ไปตั้งพรรคกิจสังคม และนำส.ส.กิจสังคม 18 เสียง สร้างประวัติศาสตร์นำพรรคแสบ ( SAP -Social Action Party ) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนได้เป็นนายกฯ คนที่ 13 แบบช็อคทั้งวงการ คนต่อมาที่นำส.ส.แยกตัวออกไปก็คือสมัคร (เป็นส.ส. 2511-2519) ก่อนจะไขก๊อกออกไปตั้งพรรคประชากรไทย ได้ดิบได้ดีเป็นรัฐมนตรีหลายสมัยในหลายยุคสมัย ทั้งยุค ม.ร.ว.เสนีย์ ธานินทร์ พล.อ.เปรม พล.อ.ชาติชาย พล.อ.สุจินดา บรรหาร พล.อ.ชวลิต ฯลฯ เป็นนักการเมมืองฝีปากกล้าเป็นดาวสภา ก่อนถูกทักษิณ ณ ดูไบ ทาบไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนขึ้นชั้นเป็นนายกฯ คนที่ 25 2 บิ๊กเนมที่ว่าคือ “เนื้อใน” พรรคสีฟ้าที่เดินออกจากพรรคแล้วไปได้ดีถึงขั้นเป็นนายกฯก้าวเป็นผู้นำของประเทศ
แต่ที่เดินออกจากพรรคแล้วไม่รุ่งพุ่งไม่แรงอย่างที่ควรจะเป็นก็มีบานเบอะ ตั้งพรรคใหม่ไร้ความนิยมตกอับกลายเป็นพรรคไม้ประดับทางการเมืองก็มีมาก คนแรกที่ต้องพูดถึงก็คือวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคคนที่ 10 ( 5 เม.ย.2529 – 10 ม.ค.2530 ) เป็นส.ส.ปชป.ยาวนานตั้งแต่ปี 2518-2531 ก่อนจะเกิดการขัดแย้งหลายเรื่องระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะการตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่วีระต้องการสนับสนุน เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่กลุ่มชวน ต้องการผลักดัน พิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค โดยมี “เสธฯหนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเลขาธิการพรรค ครั้งนั้นกลุ่มวีระพ่ายแพ้จนเป็นที่มาของชื่อ “กลุ่ม 10 มกรา” ต้องระเห็จออกไปตั้งพรรคประชาชนแต่ก็ไม่รุ่งสุดท้ายวีระต้องไปซบอกทำพรรคกับพ่พอใหญ่จิ๋วในนามพรรคความหวังใหม่ ก่อนถูกทักษิณเทกโอเวอร์ไปรวมกันในชื่อพรรคไทยรักไทย คนต่อมาที่ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ก็คือพล.ต.สนั่น เจ้าพ่อชาละวันเมืองพิจิตร เลขาธิการพรรคคนที่ 10 (10 ม.ค.2530 -17 ก.ย.2543) เป็นแม่บ้านพรรคยาวนานกว่า 13 ปี เป็นเลขาธิการพรรค 2 ยุค “พิชัย-ชวน” ถือเป็นช่วงที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์แข็งแกร่งเป็นอย่างมาก แต่ระหว่างกำลังนำพรรครุ่งเรืองกลับตกม้าตายเพราะยื่นบัญชีทรัพสินย์อันเป็นเท็จ (ระบุว่ากู้เงิน 45 ล้านบาทแต่ไม่มีการกู้จริง) ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ต้องลาออกจากเลขาธิการพรรค หลังจากพ้นโทษกลับมาไปตั้งพรรคมหาชนกับเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เลือกตั้งปี 2548 ชูแนวคิด “สองนครประชาธิปไตย” แต่คนไทยไม่เก็ตได้ส.ส.มาแค่ 2 คนเท่านั้น
คนสุดท้ายที่ออกจากพรรคแล้วต้องพูดถึงก็คือ “กำนันสุเทพ” หรือ “เทพเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคคนที่ 14 ( 5 มี.ค.2548-4 ก.ค.2554 ) เป็นแกนนำของพรรคคนสำคัญที่ปั้นอภิสิทธิ์จนได้เป็นนายกฯ คนล่าสุดของพรรค ต้องลาออกจากตำแหน่งแม่บ้านพรรคเพื่อมาเป็นเลขาธิการ กปปส. นำมวลชนลงถนนขับไล่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บริหารประเทศผิดพลาด ทั้งเรื่องบริหารจัดการน้ำ โกงจำนำข้าว ออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ฯลฯ หลังรัฐประหาร 2557 ประกาศไม่เล่นการเมืองเด็ดขาด แต่ต้องกลืนน้ำลายเพื่อชาติร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย เลือกตั้งคราวที่แล้วได้ส.ส.มาแค่ 5 คน ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อพรรคเป็นรวมพลังพร้อมมีข่าวว่าอาจไปรวมพรรคกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ล่าสุดก็มีกรณีของกรณ์ที่ไปพรรคกล้า พีระพันธุ์ตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ หมอวรงค์กับถาวรไปตั้งพรรคไทยภักดี ฯลฯ ทั้งหมดคือที่เห็นและเป็นไปของพรรคประชาธิปัตย์ แม้ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันทางการเมือง เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่สุดในประเทศไทย แต่การเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยนิ่งไม่เคยสงบ มีคลื่นใต้น้ำให้เห็นอยู่บ่อยๆ มีถ่ายเลือดโลหิตไหลเป็นข่าวใหญ่อยู่บ่อยครั้ง อนาคตข้างหน้าก็ยังไม่รู้ว่าจะลูกผีลูกคน ใครเป็นแฟนคลับพรรคนี้ก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะมีใคร “ไหลเข้า-ไหลออก” อีกบ้าง จะมีเบอร์ใหญ่แกนนำคนไหนเดินออกจากพรรคไปอีกไหม และในการเลือกตั้งทั่วไปเที่ยวหน้าจาก 53 คนจะเหลือเท่าไหร่
/////////////////////