ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 185 ต่อ 2 ให้ประณามนโยบายของสหรัฐ ที่คว่ำบาตรคิวบาเป็นครั้งที่ 30 มีเพียงสหรัฐและอิสราเอลเท่านั้น ที่ลงคะแนนคัดค้านมตินี้ ส่วนยูเครนและบราซิลงดออกเสียง
ด้านตัวแทนของสหรัฐได้ทำการตอบโต้การประณามครั้งนี้ว่า บทลงโทษทางเศรษฐกิจต่อคิวบา เป็นการตอบโต้การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลคิวบา กับการปราบปรามการประท้วงในเดือนกรกฎาคม 2021 ที่เรียกร้องเสรีภาพทางการเมือง และสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งทางด้านของนางยูริ กาลา รองผู้แทนคิวบาแห่งสหประชาชาติก็ได้ตอบกลับว่า หากรัฐบาลสหรัฐ ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดี, สิทธิมนุษยชน, และการตัดสินใจในตนเองของชาวคิวบาจริง ก็สามารถยกเลิกการคว่ำบาตรได้
ก่อนการลงมติ นายบรูโน โรดริเกซ รัฐมนตรีต่างประเทศคิวบาได้มีการแถลงว่า ตั้งแต่ปี 2019 สหรัฐได้เพิ่มแรงกดดันในคิวบา จนนำไปสู่ความโหดร้ายทางมนุษยธรรมมากขึ้น โดยสหรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหายนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดให้เกิดขึ้นกับชาวคิวบา เช่นในช่วงการบริหารงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ เพียง 14 เดือน แม้จะมีการผ่อนคลายเรื่องการเปิดเที่ยวบิน, การส่งเงิน, และบริการด้านกงสุลกับคิวบา แต่การดำเนินการที่เป็นแบบปิดล้อมขั้นสูงสุด ก็ยังคงเป็นองค์ประกอบหลัก ในนโยบายคว่ำบาตรคิวบา ซึ่งการคว่ำบาตรได้ทำให้เศรษฐกิจคิวบาเสียหายไปแล้วประมาณ 6.35 พันล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ย 15 ล้านดอลล่าร์ต่อวัน
โรดริเกซยังได้ประณามอดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ที่ฟื้นฟูการดำเนินนโยบายกดดันคิวบาขั้นสูงสุด และไบเดนที่ดำเนินการไม่ต่างไปจากทรัมป์มากนัก แทนที่จะต่อยอดการบรรเทาความตึงเครียด ที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ริเริ่มไว้ ในช่วงสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งผู้นำ โดยช่วงนั้น โอบามาได้ทำการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับคิวบาอย่างเป็นทางการ ด้วยการไปเยือนคิวบาครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2016 และในปีนั้น สหรัฐก็ยังงดออกเสียงในระหว่างการโหวตของสหประชาชาติเป็นครั้งแรก ในมติประณามการคว่ำบาตรคิวบา
ทั้งนี้ สหรัฐไดกำหนดห้ามส่งสินค้าในปี 1960 หลังจากการปฏิวัติของนายฟิเดล คาสโตร ที่ล้มล้างรัฐบาลบาติสตา ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เป็นมิตรกับสหรัฐ และทำให้ทรัพย์สินที่เป็นของพลเมืองและบรรษัทของสหรัฐ ตกเป็นของทางการคิวบา จากนั้น ความตึงเครียดของคิวบาและสหรัฐ ก็มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งประเด็นการอพยพ ความปลอดภัย และความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาค