นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ “ท็อปนิวส์” ยืนยันระบบสาธารณสุขยังไม่ได้ล่ม แต่ยอมรับว่าการต่อสู้กับสงครามโควิด-19 ได้เข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อและอยู่ในภาวะวิกฤติแล้ว สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดในตอนนี้คือสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะหากมีคนติดเชื้อวันละ 14,000 -15,000 คนแบบนี้ ตัวเลขคนติดเชื้อในกรุงเทพและปริมณฑล 4,000 -5,000 คนแบบนี้ ยังไงเตียงมันก็มีไม่พอ ประเด็นสำคัญคือเราต้องช่วยกันกดการระบาด ถึงเวลาแล้วที่นโยบายขอวรัฐบาลต้องเข้มข้น ที่พูดกันประจำก็คือการแพทย์นำการเมือง เรื่องของมาตราการล็ฮคดาวน์ก็ต้องชัดเจนและเข้มข้นจริงจังมากกว่านี้ ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลควรล็อคดาวน์แบบเข้มข้นจริงๆ 2-4 อาทิตย์ จากนั้นค่อยมาดูว่าสถานการณ์หลังจากนั้นเป็นอย่างไร ทั้งนี้ในระหว่างใช้มาตราการเข้มข้นต้องดำเนินการเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน ประกอบด้วย
1.ต้องใช้แนวทาง WFH 100 % แบบจริงๆ จังๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน คือให้ออกจากบ้านแค่ 3 กรณีเท่านั้นคือ 1.ไปซื้อข้าว มากิน ไปหาวัตถุดิบมาทำกับข้าว 2.ไปหาหมอ 3.ไปฉีดวัคซีน เอาแค่นี้ได้ไหมอย่างอื่นห้ามหมดถ้าเป็นไปได้ ความเห็นผมต้องทำแบบนี้ 2- 4 อาทิตย์ เห็นไหมตอนนี้รถยังเยอะอยู่เลย คือเชื้อโรคไปเองไม่ได้ถ้าเราไม่พามันไป คนนี้แหละที่พามันไป ถ้าลดทั่้วประเทศให้เหลือไม่เกินสักวันละ 2,000-3,000 คน กรุงเทพและปริมณฑลเหลือ 1,000 กว่าคน ก็จะทำให้บุคลากรหน้าทำงานไม่เหนื่อยเกินไป มาตราการต้องเข้มข้นมากๆ
2.การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคต้องเข้มแข็ง แยกคนติดเชื้อให้ทีมลงไปตรวจคัดแยกหากเจอก็ให้ใช้วิธี home isolation หรือ community isolation แยกออกมาไม่ให้ปนกับคนไม่ติดเชื้อ ต้องหาให้เร็ว ทั้งเรื่อง swap และใช้ Antigen test kits ตรวจ
3.เร่งการรักษาตอนนี้ไอซียูเราขยายเท่าตัว หมอ พยาบาล บุคลากรด่านหน้าก็ไม่ไหวเต็มที่แล้ว
4.ต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มคนที่อ่อนแอ คนแก่ คนป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมถึง คนท้อง ถ้าฉีดคนพวกนี้ได้เร็วคนที่ติดเชื้อก็จะป่วยไม่หนัก
5.ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชน เข้าใจว่าประชาชนทุกคนเหนื่อยมากๆแล้ว เพิ่งสื่อสารกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนในกรมแพทย์ว่าเราคงไม่ขอร้องอะไรพี่น้องประชาชนอีกแล้ว สำหรับเราและบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนจะทำงานอย่างเต็มที่ เราแค่อยากขอร้องให้พี่น้องประชาชนช่วยพวกเราด้วย อะไรก็ได้แล้วแต่ท่านเลยว่าจะช่วยอะไร
ต่อข้อถามว่ามีการโจมตีหมอโจมตีระบบสาธารณสุขของไทยว่าล่มหรือล้มแล้ว สะท้อนจากการที่คนไทยติดเชื้อหลักหมื่นคน ผู้เสียชีวิตหลักร้อย นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวว่า ความจริงไม่อยากให้ความเห็นเรื่องนี้เลย เพราะมันไม่ใช่เรื่องสาธารณสุขอย่างเดียว ทั้งนโยบาย ความร่วมมือ หลายๆภาคส่วน
” ถามว่าล่มไม่ล่มเรื่องนี้ก็แล้วแต่คนตีความ เอาอะไรมากำหนดวัดว่าล่มหรือไม่ล่ม ถามว่าเรากำลังเหนื่อยมากไหม เรากำลังมีปัญหาไหม เรากำลังวิกฤติไหม เราวิกฤติจริงๆ แต่โดยส่วนตัวหวังว่าเราจะไม่ล่มด้วยความร่วมมือของทุกคน…ทุกคนอยู่หน้างานทำเต็มที่ ขยายอีอาร์แล้ว ขยายไอซียูแล้ว เราก็หวังว่า ใช้คำว่าเราก็หวังว่าระบบสาธารณสุขจะไม่ล่ม ด้วยความร่วมมือของ ตั้งแต่หมอ พยาบาล บุคลากรหน้างาน ไปจนถึงคนทุกคนในประเทศ ” นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า ในส่วนของของเตียงไอซียูของโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีมากกว่า 1,000 เตียง ขณะที่เครื่องช่วยหายใจไม่ใช้ปัญหาใหญ่เพราะเราสามารถดึงเครื่องช่วยหายใจจากที่อื่นๆมาช่วยได้ แต่ที่วิกฤติมากที่สุดในตอนนี้คือจำนวนแพทย์ที่มีไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีคนติดเชื้อช่วงนี้ประมาณวันละ 5,000 – 6,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้แต่ละวันจะมีผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้าไอซียูราว 3 % เฉลี่ยทุกวันจะมีผู้ป่วยโควิด-19ที่ต้องเข้าไอซียูราว 150 คน แต่ละคนจะอยู่ในห้องไอซียูราว 20 วัน เพราะฉะนั้นเราจึงมีความจำเป็นต้องใช้ห้องไอซียูเพื่อมารองรับผู้ป่วยโควิด-19 และใช้แพทย์จำนวนมากมาดูแลคนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงนี้
นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ในส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีเก็บไว้ใช้ในส่วนกลางราว 5 ล้านเม็ด ขณะที่ปริมาณการใช้ต่อวันตอนนี้มีสูงถึง 5 แสนเม็ดต่อวัน หรือเดือนละ 15 ล้านเม็ด ซึ่งขยับขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ใช้อยู่ราว 3 แสนเม็ดต่อวันหรือเดือนละ 9 ล้านเม็ด เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นมากปริมาณการใช้ยาจึงสูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขมีแผนการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์มาเดือนละ 40 ล้านเม็ด ตรงนี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของเราด้วย แต่ก็ต้องมีการสั่งนำเข้ามาสำรองไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน ยืนยันได้ว่ายาฟาวิพิราเวียร์และยาเรมเดซิเวียร์ที่ใช้สำหรับคนท้องหรือผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19ที่แพ้ยาฟาวิพิราเวียร์ มีจำนวนเพียงพอสำหรับรักษาคนป่วย ขณะที่อนาคตอันใกล้ในเดือนสิงหาคมนี้องค์การเภสัชกรรมก็จะผลิตยาฟาเวียร์ที่เป็นฟาวิพิราเวียร์ของไทยมาใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้ ตรงนี้ก็จะทำให้สัดส่วนการนำเข้าลดลง
นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวว่า ในวันอาทิตย์ที่ 25 ก.ค.นี้ ทางกรมการแพทย์จะเป็นเจ้าภาพในการเชิญคณะแพทย์จากที่ต่างๆ มาประชุมเพื่อหารือแนวทางรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติม โดยเฉพาะในเรื่องของการหายาตัวใหม่ๆที่มีงานวิจัยจากต่างประเทศหรือมีผลงานทางการแพทย์ยอมรับว่ารักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้ ซึ่งมีหลายตัวที่น่าสนใจ อาทิ ไอเวอร์แม็คติน โมลนูพิราเวียร์ อินเตอร์ลิวคิน-6 ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบ ยาปรับภูมิที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ฯลฯ ตรงนี้ก็ต้องมาหารือกัน ร่วมถึงแนวทางการต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ด้วยวิทยาการใหม่ๆ