อนาคตทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ วันนี้ยังไม่รู้จะไปทางไหนจะเดินอย่างไรต่อ แต่แนวโน้ม 3 หน้าที่จะออกไม่หนีไปจากนี้แน่นอน 1.ไม่ไปต่อพอแค่นี้ จัดประชุมเอเปคจบบริหารประเทศไปสักพัก จากนั้นก็ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน หรือ 2.ขอไปต่อทางการเมืองทำงานเพื่อประเทศชาติรับใช้ประชาชนให้สิ้นสุดทางเลื่อน เหลือระยะเวลาอีก 2 ปีตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเริ่มต้นนับการเป็นนายกฯตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศฉบับปัจจุบันประกาศใช้เมื่อปี 2560 เพราะฉะนั้นก็จะเหลือเวลาอีก 2 ปีเศษในการเล่นการเมือง หากไปต่อก็อยู่ที่ว่าจะไปกับใครลงเรือลำไหน ทางแรกไปกับเรือลำเดิมอย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่ตอนนี้กำลังง่อนแง่นสุดๆ แต่หากขึ้นเรือลำเก่าจริงบิ๊กตู่ก็ต้องยอมรับสภาพการเป็นตัวเลือก 1 ใน 3 ไม่ใช่คนเดียวเพียวๆเหมือนการเลือกตั้งคราวที่แล้ว เพราะรอบนี้จะมีคู่เทียบอย่าง “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับ “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผบ.ตร. ประกบเทียบไปด้วยในบัญชีแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ หรือทางที่สองย้ายเรือแป๊ะไปนั่งกับเรือลำอื่น โดยมีพรรครวมไทยสร้างชาติของ “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พร้อมอ้าแขนรับนายกฯอยู่แล้ว ที่ล่าสุดแบะท่าพร้อมรับนายกฯลงเรือลำเดียวกัน เพราะได้คนดีมีฝีมือแบบนายกฯไปก็มีแต่ “วิน-วิน” มีแต่ได้กับได้อยู่แล้วสำหรับพรรคการเมืองใหม่แบบพรรครวมไทยสร้างชาติ
อนาคตยังมารู้ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจอย่างไร ท่ามกลางเวลาที่งวดเข้ามาทุกที เลือกตั้งก็เหลือเวลาไม่มาก ยังไงเสียบิ๊กตู่ก็ต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งใน 3 ทางที่ว่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ขอเวลาจัดประชุมเอเปค 14-19 พ.ย.ให้แล้วเสร็จไปก่อน หลังจากนั้นค่อยมาคิดถึงอนาคตของตัวเองแบบจริงๆจังๆอีกทีว่าจะเอาไง กลับบ้านหรือไปต่อ ถ้าไปต่อจะไปกับใครไปยังไง ล่าสุดตอบคำถามนักข่าวหลังประชุมครม.วันนี้ ( 8 พ.ย.2565) ก็บอกว่า “ยังไม่ตัดสินใจอะไรทั้งนั้น ยังไม่มีคำตอบ ” ชัดเจนว่าก็คงจะซื้อเวลาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหาทางออกคุยทางลงกับลุงป้อม พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ได้ว่าจะเอาทางไหนดีถึงจะสวยงาม และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายโดยพาะบ้านเมืองมากที่สุด หลังจากอยู่บริหารประเทศมา 8 ปีเศษ สร้างคุณูปการและประโยชน์สารพัดเรื่องมากมายให้กับประเทศไทย
ย้อนอดีตกลับไปช่วงรัฐบาลเรือแป๊ะ 1 ตอนนั้นบิ๊กตู่กำลังจะหมดสมัยการทำหน้าที่นายกฯรอบแรก มีการหารือกับแกนนำรับบาลหลายคนเรื่องการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อต่อยอดการเมืองในเทอม 2 หนึ่งในคนที่บิ๊กตู่ปรึกษาด้วยคือ “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจในยุคนั้น วงในระบุว่าแรกเริ่มเดิมทีบิ๊กตู่ไม่คิดจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเอง แต่จะให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ในตอนนั้น ทั้งพรรคภูมิใจไทยของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล กับ พรรคประชาธิปัตย์ของ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคนสนับสนุนให้ขึ้นเป็นนายกฯสมัย 2 แต่คนข้างกายหลายคนโดยหนึ่งในนั้นก็มีสมคิดสะท้อนกลับว่า “ หากไปพึ่งจมูกคนอื่นหายใจจะลำบาก โดยเฉพาะในอนาคตไม่รู้ว่าการเมืองจะเปลี่ยนไปแบบไหน” ประกอบกับหากการเลือกตั้งเกิดขึ้น ไม่รู้ว่าถึงเวลาจริงๆ พรรคการเมืองเหล่านั้นจะเชื่อใจได้มากน้อยแค่ไหนในการเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ และ จะได้ส.ส.เข้ามากี่คน สมคิดเลยเสนอบิ๊กตู่ว่าหากจะเล่นการเมืองต่อต้องตั้งพรรคขึ้นมาเอง บิ๊กตู่เลยโอเคกับแนวคิดนี้จากนั้นจึงให้สมคิดเป็นตัวตั้งตัวตีในการดำเนินการ นำไปสู่การตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.2561 โดยมีชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม กับ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตส.ส.สงขลาพรรคความหวังใหม่ เป็นคนจัดตั้งพรรคกับกกต. จากนั้นสมคิดจึงเดินสายหาแนวร่วมทางการเมืองจากกลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆ โดยได้กลุ่มสามมิตรของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมศักดิ์ เทพสุทิน และ อนุชา นาคาศัย มาผนึกกำลังกับทีมงาน 4 กุมาร ที่เป็นคนใกล้ชิดของสมคิดคือ อุตตม สาวนายน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล จากนั้นในวันที่ 29 ก.ย.2561 พรรคมีการประชุมใหญ่สามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค ผลปรากฏว่าอุตตมได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค สนธิรัตน์เป็นเลขาธิการพรรค เริ่มต้นดำเนินการขับเคลื่อนพรรคพลังประชารัฐทางการเมืองยุคแรกในยุคของ 4 กุมาร
เข้าสู่การเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 เพราะความนิยมในตัวบิ๊กตู่เป็นด้านหลัก พรรคพลังประชารัฐจึงชนะการเลือกตั้งทั่วไป แบบถล่มทลายได้คะแนนทั่วประเทศไปมากกว่า 8,452,634 คะแนน กวาดส.ส.ไป 116 คน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียวจากพรรคพลังประชารัฐในการเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค สุดท้ายผลการโหวตในสภาบิ๊กตู่ได้เป็นนายกฯสมัยที่สองแต่เป็นสมัยแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่ 2560 ด้วยคะแนนเสียงโหวต 500 เสียง ส.ว.249 เสียง ส.ส.251 เสียง เฉือนธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ได้ 244 เสียงไปแบบขาดลอย อย่างไรก็ตามถัดมาไม่นานเริ่มเกิดปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำรัฐบาลระหว่างกลุ่มสามมิตรกับ 4 กุมาร บิ๊กตู่เลยต้องผ่าทางตันดึงลุงป้อมเข้ามาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อคุมพรรคพลังประชารัฐไม่ให้แตกร้าวจนกระทบเสถียรภาพรัฐบาล อยู่ได้ไม่นานกลุ่มสามมิตรก็ประสานกับก๊วนลุงป้อมจัดการยึดอำนาจจากกลุ่ม 4 กุมาร 1 มิ.ย.2563 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 18 คนลาออก ถัดมา 27 มิ.ย.2563 มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพค เมืองทองธานี ที่ประชุมใหญ่เลือกลุงป้อมขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแบบเอกฉันท์ 4 กุมารหลุดจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด เข้าสู่ยุคพล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแบบเต็มตัว
หลังเป็นหัวหน้าพรรคได้ครบปี 18 มิ.ย.2564 มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคที่ จ.ขอนแก่น ที่ประชุมเลือกลุงป้อมเป็นหัวหน้าพรรคเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเลขาธิการพรรคคนใหม่จากอนุชาเป็น “ผู้กอง”ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส่วน “อ.แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ คู่ซี้ก็ได้ขยับขึ้นเป็นเหรัญญิกพรรคในเวลาเดียวกัน แต่ในยุคลุงป้อมเป็นหัวหน้าพรรค ผู้กองเป็นเลขาฯ ก็อย่างที่เห็นพรรคพลังประชารัฐมีแต่เสื่อมทรุด ผู้กองจับมือแก๊งค์ 4 ช. เปิดศึกล่อนายกฯ แจกกล้วยเตรียมคว่ำบิ๊กตู่ในศึกซักฟอก จนถูกปลดออกจากรัฐมนตรี จากนั้นก็มีเรื่องราวมากมายปัญหาสารพัดตามมาไม่หยุด พรรคพลังประชารัฐมีแต่ถอยหลังเข้าคลอง เลือกตั้งซ่อมก้แพ้ทุกเขต คะแนนนิยมก็หดหาย จากพรรคอันดับหนึ่งเมื่อการเลือกตั้งคราวก่อน ปัจจุบันโพลล์สำรวจคะแนนนิยมตกไปอันดับ 3 อันดับ 4 บอกเลยว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ความนิยมของบิ๊กตู่ลดลงไปก็เพราะความห่วยแตกไม่เอาไหนของพรรคพลังประชารัฐที่เกิดเรื่องราวขัดแย้งบาดหมางทะเลาะกันไม่หยุด โดยเฉพาะอดีตแกนนำพรรคบางคนที่หาเรื่องบิ๊กตู่ไม่หยุดหย่อนจองเวรนายกฯไม่รู้จักเวลา ที่สุดเลยทำให้พรรคพลังประชารัฐตกต่ำดำดิ่ง มีอย่างที่ไหนเป็นรัฐบาลแท้ๆคะแนนนิยมมีแต่ทรุดลงฮวบๆ ไม่แปลกที่บิ๊กตู่อยากย้ายพรรคใจจะขาด ใครจะไปอยากอยู่พรรคที่มีแต่เสี้ยนหนามตำตีน แถมร่ำๆว่าอนาคตจะเอาหอกข้างแคร่ ศัตรูที่(หัวหน้าพรรค)รักกลับมาอีก พรรคเละเทะไม่มีทรงไม่มีความพร้อมแบบนี้ใครอยากจะไปอยู่ด้วย อย่าว่าแต่บิ๊กตู่อยากจะไปเลย เป็นใครๆก็ไป อยู่ทำไมกับเรือที่กำลังมีรูรั่ว กัปตันพูดแต่ “ไม่รู้ ไม่รู้” ใบเรือก็ขาด หางเสือก็แหว่ง จะแล่นไปทางไหนก็ยังไม่รู้อนาคตเลย
////////////////