วันที่ 24 ก.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยกู้ภัยสว่างจิตต์ศรีสะเกษธรรมสถานร่วมกับ ทีม SCOT ศรีสะเกษ ได้รับการประสานจาก รพ.ศรีสะเกษว่า ให้ดำเนินการนำร่างผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายที่ 10 ของ จ.ศรีสะเกษ โดยเป็นชายอายุ 66 ปี ชาว ต.โนนค้อ อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ จึงได้จัดเจ้าหน้าที่กู้ภัยพร้อมชุดป้องกัน (PPE) และโลงขายลายไทยจำนวน 1 ใบ ไปรับศพผู้เสียชีวิตจาก รพ.ศรีสะเกษ ไปทำการฌาปนกิจและจัดการตามมาตรการควบคุมโรค ที่วัดแห่งหนึ่งในเขต อ.เมืองศรีสะเกษ เพื่อให้ญาติได้นำอัฐิไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีต่อไปแล้ว
ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันที่ 24 ก.ค. 2564 เพิ่มวันนี้ จำนวน 158 ราย มียอดสะสม จำนวน 2,502 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มจำนวน 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม จำนวน 10 รายแล้ว รักษาหายเพิ่มวันนี้ จำนวน 153 ราย รักษาหายสะสม จำนวน 1,282 ราย รักษาอยู่จำนวน 1,210 ราย โดย อ.ศรีรัตนะ มีผู้ป่วยสูงสุด จำนวน 381 ราย ขณะที่ อ.ราษีไศล มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มวันนี้สูงสุด จำนวน 29 ราย รองลงมาคือ อ.ขุนหาญ จำนวน 28 ราย โดยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อจากจังหวัดเสี่ยง 155 ราย คิดเป็น 98.42 เปอ์เซ็นต์ ติดเชื้อภายในจังหวัด มีเพียง 3 รายคิดเป็น 1.89 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้ง 3 ราย พบอยู่ที่ อ.ไพรบึง
นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนขอฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวศรีสะเกษว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อจะมากแต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นพี่น้องเราทั้งนั้นที่ไปทำงานอยู่ในพื้นที่ที่เป็นสีแดงเข้ม แล้วก็เจ็บป่วยติดเชื้อมาแล้ว ตอนนี้เขาเหล่านั้นอาจมีปัญหาเรื่องเตียงรับผู้ป่วย จ.ศรีสะเกษเราก็มีความพร้อมที่จะรับดูแลรักษาพี่น้องชาว จ.ศรีสะเกษ ที่กลับมาเพื่อรักษาตัวจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ให้หาย ส่วนเตียงผู้ป่วยนั้นในเบื้องต้นตามนโยบายบ้าน 4 หลังโมเดลของ ผวจ.ศรีสะเกษเรามีเตียงรองรับเพียงพอ แต่ว่าอย่างไรเราก็ต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากว่าผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่เดินเข้ามาแล้ว เริ่มมีสัดส่วนของผู้ที่ติดเชื้อบวกมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ศรีสะเกษ จะได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์รายวันแล้ววางแผนยุทธศาสตร์ เตรียมแผนรองรับอย่างเต็มที่ ซึ่งการที่มีการจัดรถไปรับชาวศรีสะเกษที่ติดเชื้อกลับมาจากกลุ่มจังหวัดเสี่ยงมาพักรักษาตัวที่บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ นั้น จะเป็นผลดีเนื่องจากว่า จะเป็นการง่ายต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ เพราะว่าหากให้ชาวศรีสะเกษพากันเดินทางกลับมาเอง จะไม่สามารถที่จะวางระบบในการควบคุมดูแลได้ และเชื้อโรคโควิด-19 ก็จะมีการแพร่ระบาดไปยังประชาชนคนอื่น ๆ ทั่วไป อาจจะทำให้เชื้อโควิด-19 มีการแพร่ระบาดกระจายลุกลามไปมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ภาพ/ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ