(10 พฤศจิกายน 2565) นางเบญจมาศ อุนรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงสภานการณ์โรค มือ เท้า ปาก ว่า ภายหลังสถานศึกษาต่างๆ ได้เปิดภาคเรียนที่ 2 มาระยะหนึ่ง ทำให้เด็กมีกิจกรรมรวมกลุ่มใกล้ชิดกันมากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคมือ เท้า ปากได้ง่าย โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – ปัจจุบัน สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก แล้วจำนวน 13,295 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ นครราชสีมา 4,844 ราย /สุรินทร์ 4,147 ราย /บุรีรัมย์ 2,939 ราย /และชัยภูมิ 1,365 ราย / กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี
4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ป่วยโรคมือ เท้า ปาก กว่า 13,000 ราย ขณะนครราชสีมา ป่วยเกือบ 5,000 ราย แนะครู ผู้ปกครอง ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
ข่าวที่น่าสนใจ
สำหรับ อาการของโรคมือ เท้า ปาก จะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็ก ๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้นผู้ปกครองควรคัดกรองอาการของเด็กก่อนไปเรียน หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน ควรให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่นของใช้ จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น และหมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง