วันที่ 10 พ.ย.2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณี คนไทย 27 ราย ยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อพล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานวุฒิสภา ขอความช่วยเหลือเนื่องจากถูกหลอกลวงจากนายหน้าจัดหางาน ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย อ้างว่าสามารถพาไปทำงานประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ “วีซ่าทักษะเฉพาะทาง”Specified skilled Worker จนทำให้แรงงานไทยที่หลงเชื่อสูญเงินค่าบริการจัดหางานไปแล้วรายละ 20,000 – 70,000 บาท สุดท้ายถูกเลื่อนกำหนดเดินทางไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นพิรุธ ขอเงินคืนกลับถูกนายหน้าบ่ายเบี่ยง ทำให้บางรายเสียทั้งเงินและงาน เนื่องจากแจ้งลาออกจากงานล่วงหน้า เพื่อเตรียมเดินทางไปทำงานที่ใหม่ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เป็นมูลค่าความเสียหายรวม 5 ล้านบาท ซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับทราบเรื่องแล้วไม่นิ่งนอนใจ ได้สั่งการกรมการจัดหางานเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวทันที
"รมว.เฮ้ง" ห่วงแรงงานไทยถูกหลอกทำงานญี่ปุ่น สั่งกรมการจัดหางานเร่งตรวจสอบช่วยเหลือ
ข่าวที่น่าสนใจ
“ผมได้สั่งการอธิบดีกรมการจัดหางาน เร่งตรวจสอบแล้วพบว่า นายซังคิวและพวก ที่ถูกแรงงานไทย 27 คน รวมตัวกันร้องเรียนนั้น ไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานจากกรมการจัดหางาน จึงไม่สามารถรับสมัครและจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศได้ ซึ่งกรมการจัดหางานจะเร่งดำเนินคดีต่อไป ในส่วนโรงเรียนสอนภาษาดังกล่าว ได้ประสานหน่วยงานเจ้าของเรื่องรับไปดำเนินการต่อ สุดท้ายผมขอฝากความห่วงใยถึงคนไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ก่อนหลงเชื่อโอนเงินให้ผู้ใด ขอให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานกับกรมการจัดหางานก่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานมีศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ทำหน้าที่ติดตาม เฝ้าระวัง การโฆษณาจัดหางานบนสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเข้มงวด หากพบผู้ใดโฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน ถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ผู้ใดที่จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาท – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“สำหรับผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th หรือ doe.go.th/overseas เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ doe.go.th/ipd กรณีประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายโทรศัพท์ 0 2245 6708 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง