ในภาวะวิกฤติโควิด-19 นี้ประชาชนต่างก็ต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ เมื่อมีข้อมูลจำนวนมากและมาจากหลากหลายแหล่ง จึงทำให้เกิดความสับสนและวิตกกังวลตามมา สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ข่าวสารในช่วงวิกฤติโควิด-19” พบประชาชนสนใจข่าวประสิทธิภาพของวัคซีนและอาการข้างเคียงมากที่สุด ซึ่งจะเลือกเชื่อถือข้อมูลจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ประชาชนมองว่าข้อมูลข่าวสารทำให้รู้สึกสับสนมาก โดยสับสนข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล การจองและเลื่อนฉีดวัคซีน และเมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารจะดูแลตัวเองมากขึ้น ภาพรวมเมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้วรู้สึกวิตกกังวลมากจนเริ่มรบกวนชีวิตประจำวัน
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,619 คน ระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2564 พบว่า ประชาชนสนใจข่าวประสิทธิภาพของวัคซีนและอาการข้างเคียงมากที่สุด ร้อยละ 72.41 เลือกเชื่อถือข้อมูลจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ร้อยละ 65.30 ข้อมูลข่าวสารทำให้รู้สึกสับสนมาก ร้อยละ 43.99
โดยสับสนข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล การจองและเลื่อนฉีดวัคซีนมากที่สุด ร้อยละ 74.61 เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารจะดูแลตัวเองมากขึ้น ร้อยละ 90.78 และภาพรวมเมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้วรู้สึกวิตกกังวลมากจนเริ่มรบกวนชีวิตประจำวัน ร้อยละ 36.34
ในขณะที่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กำหนดบทลงโทษที่ไม่น้อย หากมีการแชร์หรือโพสต์ข้อความผิดกฎหมาย แต่ประชาชนก็ยังมีความเชื่อถือข้อมูลจากแหล่งสื่อโซเชียลมากขึ้น ถึงแม้ว่าการรับรู้ข้อมูลจำนวนมากเหล่านั้นจะทำให้เกิดความสับสนหรือวิตกกังวลอย่างมากตามมาก็ตาม ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการข้อมูลของภาครัฐนั้นยังไม่ตรงใจประชาชน การสื่อสารที่ล่าช้าและเปลี่ยนแปลงข้อมูลไปมาจึงเป็นจุดอ่อนหลักที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้มีนโยบายบริหารจัดการวัคซีนที่เป็นสูตรผสมระหว่าง Sinovac เข็มที่ 1 กับ AstraZeneca เข็มที่ 2 รวมถึงได้ออกมาตรการควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง จากผลการสำรวจประชาชน จึงให้ความสนใจเกี่ยวกับวัคซีนและมาตรการของภาครัฐ โดยพบว่าประชาชนสับสนกับข้อมูลข่าวสารในช่วงนี้จนทำให้ มีความรู้สึกวิตกกังวล เมื่อรัฐบาลบริหารงานแบบรวมอำนาจที่นายกรัฐมนตรี การให้ข่าวสารก็ควรมาจากคณะกรรมการชุดใหญ่เพียงเท่านั้น
โดยมีกรมสุขภาพจิตเข้ามามีบทบาทช่วยในการรับมือภาวะความเครียดและการวิตกกังวลของ ประชาชน มิเช่นนั้นอาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิตและส่งผลถึงการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นตามมา เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารแล้วประชาชนต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ยิ่งตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการ บริหารจัดการของภาครัฐ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีมาตรฐานในการสื่อสารให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ามีระบบที่พร้อมดูแลช่วยเหลือ
ในช่วงวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เองก็ต้องเข้ามามีบทบาทและเอาจริงเอาจังกับการควบคุมราคาสินค้า เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนในช่วงสภาวะวิกฤติในปัจจุบัน