ผู้นำจากประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก เตรียมมารวมตัวกันที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ในวันที่ 15-16 พฤจิกายนนี้ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะยังเป็นการพบกันครั้งแรก ในฐานะผู้นำประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ ที่พรรคเดโมแครตของไบเดน เพิ่งจะได้รับเสียงข้างมากในวุฒิสภา กับการเลือกตั้งกลางเทอมที่เพิ่งผ่านไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ ไบเดนได้กล่าวหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กัมพูชาว่า ความสำเร็จในการเลือกตั้งกลางเทอมที่คาดไม่ถึงของพรรคเดโมแครต ได้ส่งให้ตนเข้าสู่การเจรจาครั้งสำคัญกับสี จิ้นผิง ของจีนในตำแหน่งที่แข็งแกร่งขึ้น ตนตั้งใจจะมีการพูดคุยกับสี อย่างตรงไปตรงมา ด้วยเพราะรู้จักกันดี และมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันน้อยมาก เราแค่ต้องคิดให้ออกว่า เส้นสีแดงอยู่ที่ไหน และอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับแต่ละประเทศด้วย
สำหรับสี จิ้นผิง การมาร่วมประชุมครั้งนี้ จะเป็นการกลับมาทำหน้าที่ทางการทูตอีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งจะได้รับการยืนยันการเป็นผู้นำของจีนเป็นสมัยที่ 3 เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งนอกจากการพบปะกับไบเดนแล้ว สียังมีกำหนดพูดคุยกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสด้วย หลังจากที่เพิ่งจัดการประชุมกับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนี ที่จีนไปเมื่อไม่นานนี้
ส่วนทางด้านผู้นำจากประเทศสหภาพยุโรปนั้น นอกจากมาครง ซึ่งเป็นตัวแทนที่สำคัญที่สุดของสหภาพยุโรปแล้ว ยังมี ชอลซ์ มาร่วมในฐานะตัวแทนของเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปด้วย ด้านนายกรัฐมนตรีอิตาลีคนใหม่ จิออร์เจีย เมโลนี ก็จะมาร่วมการประชุมใหญ่นี้เช่นกัน และยังร่วมด้วย นางเออร์ซูล่า ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และนายชาร์ลส์ มิเชล หัวหน้าสภายุโรปด้วย
ด้านสหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีริชชี่ ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตั้งใจมาร่วมประชุมสุด G20 ครั้งแรก เพื่อพบกับพันธมิตรตะวันตก โดยเฉพาะไบเดน เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือพหุภาคีในสนธิสัญญาออคุส ที่เป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่าง สหรัฐ, สหราชอาณาจักร, และออสเตรเลีย
นายกรัฐมนตรีนเรทรา โมดี แห่งอินเดีย ก็จะมาร่วมประชุมด้วยเช่นกัน โดยมีแผนประชุมทวิภาคีร่วมกับไบเดน, มาครง, และซูแน็ก ซึ่งเป็นผู้นำคนแรกของอังกฤษ ที่มีเชื้อสายอินเดีย ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุม ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม G20 ครั้งนี้ จะส่งไม้ต่อในการประชุมครั้งต่อไป ให้กับผู้นำอินเดียด้วย
และที่เป็นที่จับตาคือ รัสเซีย ที่ได้ส่งนายเซอร์เก้ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ มาเป็นตัวแทนประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน โดยการมาของลาฟรอฟนั้น เพื่อเป็นการปกป้องปูตินจากการวิพากษ์วิจารณ์ และการต้อนรับที่เย็นชาในเวทีระหว่างประเทศ ด้านประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ก็จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยเป็นการกล่าวผ่านวิดิโอคอล เหมือนเช่นการประชุมใหญ่ๆ ในทุกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีผู้นำจากอีกหลายประเทศมาร่วมอีกคับคั่ง และยังมีนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ จะเข้าร่วมประชุม G20 ในฐานะผู้สังเกตการณ์ด้วย