นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนี ได้พบกับปะหารือกับนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ แห่งเวียดนามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านพลังงานและการค้า ระหว่างการเยือนฮานอยเมื่อวานนี้ และถือเป็นการเยือนของผู้นำเยอรมนีครั้งแรกในรอบ 10 ปี
ซึ่งการแวะเยือนเวียดนาม ในระหว่างเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในอินโดนีเซียของนายชอลซ์ ตอกย้ำถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของเวียดนาม ในฐานะห่วงโซ่อุปทานของโลก เนื่องจากบริษัทเยอรมนี หลายแห่งกำลังพิจารณา กระจายการผลิตออกนอกประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์กลางหลักของเยอรมนีในเอเชีย
ในการแถลงข่าวร่วม ชอลซ์ กล่าวว่า เยอรมนีต้องการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับเวียดนาม และจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผ่านการช่วยขยายระบบรถไฟใต้ดินในกรุงฮานอย
โดยเวียดนามและสิงคโปร์เป็นเพียง 2 ประเทศเดียวในอาเซียน ที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ส่งผลให้ประเทศทั้งสองเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 จากประเทศในสหภาพยุโรปของเวียดนาม รองจากเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ตามมูลค่าการซื้อขายแลกเปลี่ยน ยังน้อยกว่าที่เวียดนามทำการค้ากับสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้มาก
อ้างอิงจากข้อมูลหอการค้าเยอรมนีในเวียดนาม มีบริษัทสัญชาติเยอรมันราว 500 แห่ง ดำเนินธุรกิจในเวียดนาม โดยในจำนวนนี้ มีโรงงานผลิตประมาณ 80 แห่ง รวมถึงบริษัท บ๊อช (Bosch) ยักษ์ใหญ่ด้านวิศวกรรม, เมสเซอร์ บริษัทพลังงาน และบริษัทขนาดเล็กอีกหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ทั่วโลก
ด้านนายมาร์โก วาลเด ประธานหอการค้าเยอรมนีในเวียดนามกล่าวว่า มีบริษัทเยอรมันในจีนประมาณ 5 พันแห่ง และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ต้องการย้ายออกจากจีน โดยมองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางเลือก ที่พวกเขาต้องการ พร้อมระบุว่าเวียดนาม และไทยเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมในภูมิภาคนี้
สำหรับการเยือนเวียดนามของนายชอลซ์ เกิดขึ้น หลังจากที่เขาเดินทางเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการเยือนจีนครั้งแรก ของผู้นำชาติตะวันตกในรอบ 3 ปี จากนั้นชอลซ์จะเดินทางเยือนสิงคโปร์เป็นประเทศต่อไป ก่อนเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ในวันที่ 15-16 พฤศจิกายนนี้