พระครูธรรมธรชัยวิชิต ชยาภินนฺโท, ผศ.ดร. รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้กล่าวเปิดกิจกรรมการอบรมรูปแบบธรรมนำทาง ในครั้งนี้ว่า “ไม่เคยมีใคร ไม่เคย ไม่มีปัญหาในชีวิต ตั้งสติให้ทันแล้วหันมาให้โอกาสตนเอง” การนำหลัก อิทธิบาท 4 ซึ่งเป็นหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่สำคัญมาใช้ ที่ประกอบไปด้วย ฉันทะ ความตั้งใจมา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความตั้งใจมาร่วมกิจกรรม 7 วัน 6 คืน เพื่อพัฒนาตนเอง วิริยะ ความเพียร ฝึกความเพียรในการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น จิตตะ มีใจฝักใฝ่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา วิมังสา ทบทวนพิจารณาตนเองอยู่เสมอ นำหลักปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ กลับไปใช้ที่บ้าน ธรรมของพระพุทธองค์มีมากมาย ถ้ารู้ให้มาก และหมั่นฝึก หมั่นปฏิบัติก็จะทำให้เกิดผล
นางศิริพร ศิริโสดา ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ ในนามของคณะทำงานระดับพื้นที่ ในโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน : รูปแบบธรรมนำทาง การจัดอบรมครั้งนี้มีความประสงค์ที่จะให้ผู้เข้ารับการอบรมได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุรา ยาเสพติดที่มีผลในด้านสุขภาพและสุขภาวะมากยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้หลักธรรม ที่จะนำมาปรับใช้และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับจิตใจ มีทักษะชีวิตในการดูแลตนเองและอยู่ร่วมในครอบครัวและชุมชน อันจะเป็นประโยชน์ในการปรับพฤติกรรมการ ลด ละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความมั่นใจในการนำตนเองสู่วิถีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิมโดยไม่พึ่งสุราหรือสาเสพติด
พระครูอุเทนปัญญารังสี ประธานพระคิลานุปัฏฐาก จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พระคิลานุปัฏฐาก เป็นเครือข่ายพระสงฆ์หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพตำบลประจำวัด (อสว.) มีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญด้านการสาธารณสุขของพระพุทธศาสนาไทย เพื่อช่วยดูแลสุขภาพของพระสงฆ์เบื้องต้น การดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นการสร้างการเรียนรู้ เพิ่มเติมทักษะให้กับเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก ในมิติการดำเนินงานด้านการดูแลผู้มีปัญหาสุรา ซึ่งมีความร่วมมือกับ ทางสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ มีการสนับสนุนที่สำคัญจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ และสมาคมฮักชุมชน ในด้านองค์ความรู้ ทักษะ และการบริหารจัดการ เป็นภาคีความร่วมมือเพื่อศึกษาและพัฒนาในการผนึกกำลังภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนในการดูแลผู้มีปัญหาสุรา
นางสาวรักชนก จินดาคำ นายกสมาคมฮักชุมชน กล่าวว่า รูปแบบธรรมนำทาง ในการดูแลผู้มีปัญหาสุรา มีการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญใน 2 ระดับได้แก่ การก่อรูปของภาคีความร่วมมือเพื่อเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนงาน และ การดำเนินกิจกรรมตามแนวทางของรูปแบบธรรมนำทาง ที่มีกิจกรรมสำคัญ 2 ส่วนได้แก่ 1) การจัดกิจกรรม 7 วัน 6 คืน ในวัด เพื่อเรียนรู้ธรรมและการดูแลสุขภาพ 2) การติดตามและประเมินผล โดยคณะทำงานภาคีความร่วมมือ ครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่มีภาคีความร่วมมือ ได้แก่ เครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ และ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ มีการสนับสนุนที่สำคัญด้านสถานที่และองค์ความรู้ ทักษะเพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่และบุคลากรสุขภาพ การดำเนินงานจะเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ ในการดูแลผู้มีปัญหาสุราที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ และพัฒนาให้มีความเหมาะสมต่อไป