“นายกฯ” เปิดAPEC CEO Summit ดันความร่วมมือเอกชนหนุนเติบโตครอบคลุม-ยั่งยืน

นายกฯ กล่าวเปิดการประชุม APEC CEO Summit ผลักดันความร่วมมือกับภาคเอกชนส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน พร้อมสร้างบรรยากาศการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล

วันที่ 17 พ.ย. 65 ณ ห้อง Athenee Crystal Hall ชั้น 3 โรงแรม ดิ แอทธินี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุม APEC CEO Summit ตามคำเชิญของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC)

โดย APEC CEO Summit เป็นหนึ่งในการรวมตัวของภาคธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และเป็นการกลับมาอีกครั้งของการประชุมในรูปแบบพบหน้า ถือเป็นการส่งสัญญาณบวกให้แก่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สะท้อนให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกพร้อมเดินหน้าทำธุรกิจอย่างเต็มที่อีกครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสให้ฟื้นฟูความเชื่อมโยง รื้อฟื้นความสัมพันธ์ และสานต่อความร่วมมือระหว่างกัน สำหรับประเด็นสำคัญของเอเปคปีนี้ ซึ่งอยู่บนแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยนำมาเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาและการเติบโต ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างคุณค่า เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

 

 

 

ทั้งนี้ ไทยยังตระหนักว่าความท้าทายที่ประสบอยู่เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงและคาบเกี่ยวกัน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ ดังนี้

ประเด็นแรก การส่งเสริมความยั่งยืน นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกและสภาพภูมิอากาศที่ล้วนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไทยได้กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญสูงสุดของเอเปคในปีนี้ และมุ่งมั่นที่จะนำเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นในระยะยาว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม พร้อมทั้งหาหนทางที่เหมาะสมให้ธุรกิจยังสามารถมีผลกำไร

 

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทุกคนสามารถร่วมมือกันได้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและพัฒนาการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ความร่วมมือที่เข้มแข็งและความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ไทยกำลังสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยแก่ภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการลดของเสีย และการปล่อยก๊าซมลพิษ การค้าและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 และกำลังเร่งพัฒนาระบบนิเวศเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งไทยหวังว่าจะได้ร่วมมือกับทุกฝ่ายต่อไป

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ประเด็นที่สอง การเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันและต้องมั่นใจว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในเส้นทางการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ผลักดันให้มองไกลไปกว่าการสร้างผลกำไร และหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อทุกระดับในภูมิภาค โดยเอเปคผลักดันให้มีการปฏิรูปทางโครงสร้างและมาตรการที่จำเป็น และขจัดอุปสรรคของการทำธุรกิจ ทั้งการปฏิรูปกฎระเบียบภายใน การส่งเสริมบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน การช่วยเหลือ MSMEs การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยีดิจิทัล และปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ

 

 

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง การที่ไทยผลักดันการเสริมพลังสตรี และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบกับเยาวชนในโครงการ APEC Voices of the Future และได้รับแถลงการณ์เยาวชน (Youth Declaration) ซึ่งประเด็นสำคัญคือ การเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนและการปกป้องโลกเพื่อคนรุ่นหลัง

ประเด็นที่สาม การมุ่งไปสู่ดิจิทัล นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นมิติใหม่ของการสร้างอาชีพ และการเจริญเติบโตในภูมิภาค เอเปคจึงเน้นให้การมุ่งไปสู่ดิจิทัลเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในปีนี้ เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาค โดยร่วมมือกันเพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งจะเป็นตัวเร่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญท่ามกลางการฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคระบาด และส่งผลต่อการพัฒนาของภูมิภาคในระยะยาว

 

 

ทั้งนี้ เอเปคได้วางรากฐานในการปฏิรูปทางโครงสร้างให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขับเคลื่อนงานที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การค้าดิจิทัลและความเชื่อมโยง รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานด้านอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเปค อย่างไรก็ตาม เอเปคต้องดำเนินการร่วมมือกับภาคเอกชนในด้านดิจิทัลเพื่อลดช่องว่าง สร้างความตระหนักรู้และสร้างความรู้ทางดิจิทัล พัฒนาขีดความสามารถ และส่งเสริมทักษะทางดิจิทัล เพื่อสร้างความสามารถของภาคแรงงานในยุคดิจิทัล

 

สำหรับไทยมีการปรับตัวและปฏิรูปทางโครงสร้างที่จำเป็น ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีต้อนรับการลงทุน และแรงงานที่มีทักษะและแรงงานขั้นสูงเพิ่มเติมในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมทั้งมีมาตรการจูงใจทั้งทางภาษีและไม่ใช่ภาษี นอกจากนี้ ไทยได้เปิดตัวโครงการตรวจลงตราประเภทผู้พำนักระยะยาว 10 ปี พร้อมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล พร้อมจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เป็นเขตนวัตกรรมดิจิทัลแห่งใหม่ และเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของภูมิภาค โดยในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยจะเสนอให้ผู้นำเอเปครับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ในปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งจะกำหนดทิศทางของเอเปคไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน สนับสนุนความพยายามในการจัดการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน ผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปรับปรุงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดขยะให้เป็นศูนย์ ซึ่งความสำเร็จนี้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาคเอกชน และการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ภูมิภาคก้าวไปข้างหน้า และเติบโตไปด้วยกันสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

 

 

ทั้งนี้ การประชุม CEO Summit เป็นกิจกรรมของภาคเอกชนที่จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และถือเป็นหนึ่งในการรวมตัวของภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประจำปีที่สำคัญที่สุด โดยปีนี้จะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Embrace, Engage, Enable” มีการเชิญผู้นำ/ผู้แทนเขตเศรษฐกิจ ผู้นำภาคธุรกิจ และผู้นำทางความคิดเข้าร่วมงาน เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นสำคัญ เช่น อนาคตของโลก ความยั่งยืน การเติบโตที่ครอบคลุม การสาธารณสุขและสวัสดิการสุขภาพในยุคหลังโควิด-19 และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ การประชุม CEO Summit ยังเป็นโอกาสให้นักธุรกิจในภูมิภาคได้สร้างเครือข่ายระหว่างกัน ซึ่งในปีนี้ มีผู้นำและผู้แทนที่เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาและเสวนาในการประชุมฯ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 มีทั้งหมด 5 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีเวียดนาม ประธานาธิบดีชิลี รองประธานาธิบดีเปรู และนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 มีทั้งหมด 2 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน
สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว
ผบ.ตร.สั่งสอบคลิปแก๊งต่างด้าว แสดงพฤติกรรมเย้ยกม. กำชับคุมเข้ม ใช้ยาแรง

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น