วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เวลา 12.30 น. ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับแขกพิเศษ ได้แก่ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปคกับหุ้นส่วนด้านการค้า” ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค โดยพบว่าอยู่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่แตกต่างไปจาก 2 ครั้งแรกที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพโดยสิ้นเชิง ในเชิงเศรษฐกิจ ผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูง ความไม่มั่นคงด้านพลังงานและอาหาร ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่หยุดชะงัก และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความท้าทายใหม่ๆ
“เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ซึ่งเป็นหัวข้อการประชุมเอเปคปี 2565 อยู่บนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนงานภายใต้ 3 เสาหลักของวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ปี ค.ศ. 2040 ตลอดปีที่ผ่านมาได้มีการพบปะกับภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้เป็นเจ้าภาพจัดการการประชุมระดับรัฐมนตรี 8 ครั้ง เพื่อพัฒนาความร่วมมือของเอเปคในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยไทยตระหนักดีว่าความร่วมมือกับพันธมิตรนอกเอเปคเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการฟื้นฟูและการเติบโตในระดับที่กว้างขึ้น เพื่อการพัฒนาที่แข็งแกร่ง สมดุล ยืดหยุ่น ยั่งยืนและครอบคลุม