ตามที่ปรากฏว่ามีการเผยแพร่ภาพในสื่อออนไลน์ เรื่องการฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา (AstraZeneca) เข็มที่ 3 ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านใหม่ไชยพจน์ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ จนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากส่วนใหญ่เห็นว่ายังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มแรก แต่ทำไมตำรวจในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ถึงได้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 แล้ว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกรณีดังกล่าวกับทีมข่าว “ท็อปนิวส์” ว่า นโยบายเรื่องนี้ชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 กระทรวงมีแนวปฏิบัติชัดว่าจะต้องฉีดให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่เป็นบุคลากรด่านหน้าที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ใช่จะเอาไปฉีดให้ใครก็ได้ เท่าที่ทราบข้อมูลมาตำรวจที่ไปต่อแถวฉีดที่ จ.บุรีรัมย์ เขาตีความว่าเขาคือบุคลากรด่านหน้าเลยคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์ฉีด เรื่องนี้ต้องถามผวจ.บุรีรัมย์
” ความจริงเขาฉีดไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในกรอบคนที่มีสิทธิ์ฉีด เราต้องการฉีดให้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก่อน เพราะบุคลากรเหล่านี้ถ้าติดเชื้อเขาต้องหยุดงาน และเขาก็มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้เขาได้บูสเตอร์โดสเข็ม 3 ให้ได้ก่อน ” รองนายกฯกล่าว
นายอนุทิน เปิดเผยอีกว่า กรณีการนำวัคซีนไปฉีดทางจังหวัดต้องบริหารจัดการให้ดี ต้องกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่าวัคซีนเข็ม 3 สำหรับบุคลากรด่านหน้า คือ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยเท่านั้น เนื่องจากจะทำให้เกิดการเข้าใจผิด เพราะคนที่เป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ทำงานชายแดนหรือในพื้นที่ๆมีการระบาดสูงอย่าง ทหาร ตำรวจ อาจเข้าใจผิดคิดว่าเขาคือบุคลากรด่านหน้าได้ ทั้งๆที่ความจริงประกาศและมติของกระทรวงสาธารณสุขได้บอกชัดเลย บุคลากรด่านหน้าคือทางการแพทย์เท่านั้น จังหวัดต้องขีดเส้นใต้เรื่องนี้ให้ชัด ทราบว่าตอนนี้ผวจ.บุรีรัมย์ได้ตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว เรื่องนี้จังหวัดต้องมีความชัดเจน เข็ม 3 ต้องให้คนที่ดูแลคนเจ็บคนป่วยก่อน
นายอนุทิน เปิดเผยต่อว่า ในส่วนแผนการฉีดวัคซีน 13 ล้านโดสที่จะเข้ามาให้เดือนก.ค.-สค. นั้น จะฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังร้ายแรงที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงก่อน เพราะถ้าเราฉีดตรงนี้ได้ก็จะลดการเสียชีวิต ลดการป่วยหนัก ตรงนี้ก็จะช่วยลดการครองเตียง เพื่อจะได้เอาเตียงมาให้คนอื่นได้ สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐฯบริจาคให้ทางคณะกรรมการวัคซีน คณะกรรมการวิชาการจะเป็นคนพิจาณาว่าจะฉีดให้กลุ่มไหน จำนวนเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าคณะกรรมการที่รับผิดชอบจะพิจารณาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้อย่างแน่นอน