ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ๒๐๒๒ ที่งานนี้ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐบาล รวมทั้งประเทศไทยได้หน้าจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในเที่ยวนี้ไปแบบเต็มๆ ชนิดที่ผู้นำโลกยกย่องและชื่นชมกันเป็นทิวแถว ว่าจัดงานได้สมบูรณ์แบบ สมกับที่เป็นการประชุมระดับเวิร์ลดคลาส หนำซ้ำไทยยังสามารถต่อยอดความสำคัญกับหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับมหาอำนาจอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่งานนี้ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ควงมาดาม เผิง ลี่หยวน สตรีหมายเลข ๑ มาเยือนไทย นับเป็นการเยือนไทยในรอบ ๑๑ ปีของประธานาธิบดีจีน และเป็นการเยือนครั้งแรกของนายสีจิ้นผิง นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้การเยือนไทยของประธานาธิบดีจีนในครั้งนี้มีความหมายและความสำคัญเป็นอย่างมาก
รวมถึงการเสด็จมาเยือนประเทศไทยของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกพิเศษของการประชุมเอเปค ก็เป็นการตอกย้ำการฟื้นความสำคัญที่ห่างเหินไปกว่า ๓๒ ปีของทั้งสองประเทศให้กลับคืนมา ไม่นับผลประโยชน์มากมายมหาศาลที่ได้จากการประชุมเอเปค ๒๐๒๒ รวมถึงกรณีที่ผู้นำโลกหลายคนเดินทางไปท่องเที่ยวชมกิจกรรมหลายอย่างในเมืองไทยก่อนกลับไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ที่ไปสนามมวยราชดำเนิน ไปเดินเล่นแวะชิมอาหารที่เยาวราช ไปไหว้พระที่วัดโพธิ์ หรือ กรณีนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ไปเข้าเฝ้าถวายสักการะ เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชฯ ไปเยี่ยมชมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ไปแวะซื้อของที่ตลาดอ.ต.ก. ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่กลายเป็นการประชาสัมพันธ์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีไทยที่งดงามให้ชาวโลกรู้ ปะหนึ่งว่าผู้นำโลกได้ให้เกียรติทำหน้าที่พรีเซ็นเตอร์เมืองไทยให้ชาวโลกรู้ไปโดยปริยาย ว่าเมืองไทยสงบร่มเย็น น่ามาเที่ยว น่ามาชิม น่ามาช็อปปิ้งมากมายขนาดไหน จะมีก็แต่คนไทยชั่วช้าบางกลุ่มคนเลวจิตใจต่ำสันดานหยาบบางจำพวกเท่านั้นที่คิดการอุบาทว์ ตั้งใจออกมาชุมนุมตั้งเป้ามาสร้างความวุ่นวายในช่วงนี้ จนกลายเป็นรอยด่างพร้อยให้พูดถึงไปทั่ว ทั้งๆที่คนไทยทุกภาคส่วน อุตส่าห์ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานต่างๆให้ออกมาดีเพื่อเผยแพร่ไปสู่สายตาชาวโลก แต่โดนคนชั่วแค่หยิบมือก่อเรื่องทำให้เสียหาย
วกกลับมาที่เรื่องใกล้ตัวจบงานใหญ่ก็มาถึงการเมืองไทยในบ้านเรา อย่างที่รู้ว่าหลังจบเอเปค ๒๐๒๒ บิ๊กตู่เคยลั่นวาจาไว้ว่าจะพูดอนาคตของตัวเองรวมถึงการเมืองเรื่องอื่นๆให้คนไทยทราบ ตอนนี้จบเอเปคแล้ว เหลือเวลา ๔ เดือนพอดีจะครบวาระสภาในวันที่ ๒๓ มี.ค.๒๕๖๖ เลือกตั้งอยู่ไม่ไกล การเมืองก็เร่งเร้าเข้าทุกขณะ เชื่อแน่ว่าหลังจากนี้บิ๊กตู่จะถูกบี้เรื่องอนาคตทางการเมืองไปตลอด เพราะเป็นหัวใจหลักของการเมืองไทยในอนาคตว่าจะไปทางไหนไปต่อกันยังไง บิ๊กตู่มาถึงทางสองแพร่งที่ต้องเลือกเดินว่าจะไปทางไหนดีกับอนาคตทางการเมืองที่เหลืออีกราว ๒ ปีเศษหลังจากนี้ ทางแรกคือไปต่อกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงเรือลำเดียวไปต่อกับ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ 3 ป.บูรพาพยัคฆ์ ข้อดีของการไปต่อกับพรรคพลังประชารัฐ ประการแรกเป็นพรรคที่มีคนรู้จัก มีการบริหารจัดการที่พร้อมอยู่แล้ว ตรงนี้บิ๊กตู่ไม่ต้องเสียเวลาไปหาพรรคใหม่ให้เปลืองแรง เพราะยี่ห้อพลังประชารัฐชาวบ้านก็รู้จักกันดีอยู่แล้ว ประการที่สองมีส.ส.เก่า มีตัวผู้สมัครเดิม มีหัวคะแนนของพรรคพร้อมทำหน้าที่อยู่แล้ว การไปต่อกับพรรคพลังประชารัฐก็ช่วยลดความเสี่ยงตาม ม.๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้พรรคที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯได้ จะต้องมีจำนวนส.ส.ของพรรคไม่น้อยกว่า ๕ % ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบัน ส.ส.ในสภามี ๕๐๐ คน เพราะฉะนั้นสัดส่วน ๕% ของ ๕๐๐ คน พรรคที่จะเสนอชื่อนายกฯได้ก็ต้องได้ส.ส.ไม่น้อยกว่า ๒๕ คน ตรงนี้หากไปอยู่กับพรรคใหม่อาจมีปัญหาแต่ถ้าอยู่กับพรรคพลังประชารัฐเรื่องนี้ก็ไม่น่าจะมีอะไรให้ต้องลุ้น
ประการที่สามมีอำนาจรัฐในมือพร้อมสรรพ แกนนำพรรคหลายคนก็ล้วนเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล มีเครือข่ายมีสมุนมีบริวารมีข้าราชการในมือ นอกจากนี้อย่าลืมว่าพรรคพลังประชารัฐมีหัวหน้าพรรคที่ชื่อลุงป้อม ใครๆก็รู้ว่าบิ๊กป้อมเป็นผู้จัดการรัฐบาลตัวจริง เป็นคนคอยควบคุมจังหวะการเมืองและชี้ขาดปมประเด็นการเมืองต่างๆของรัฐบาล แถมยังมีอำนาจในมือล้นฟ้า ทั้งสภาล่างและสภาสูงตรงนี้ก็ทำให้การเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐสามารถทำได้โดยง่าย เพราะอดีตก็เป็นแกนนำขั้วรัฐบาลฝั่งตรงข้ามทักษิณอยู่แล้ว ส่วนจุดอ่อนที่อาจทำให้พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากไปต่อกับพรรคนี้ ประการแรกเป็นพรรคการเมืองที่ควบคุมและบริหารจัดการยาก ลำพังแค่มีลุงป้อมคนเดียวก็คุยกันลำบากแล้ว ไหนยังมี “ เสือ สิงห์ กระทิง แรด” มีนักการเมืองเขี้ยวลากดินที่เคยขัดแย้งกับบิ๊กตู่อีกหลายคน อาทิ “อ.แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรมช.แรงงาน แม้แต่ “ผู้กอง” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรค อดีตรมช.เกษตรฯ ที่มีข่าวว่าลุงป้อมจะดึงตัวกลับมาช่วยพรรค พร้อมกับส.ส.ก๊วนเก่าที่ถูกตะเพิดออกไป ๒๑ คน ที่ตัวนี้เหลือแค่หลักสิบกว่าคนเท่านั้น ประการที่สองการเสื่อมทรุดของพรรคพลังประชารัฐ ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีแต่เรื่องมีแต่ปัญหาความขัดแย้งภายใน ทะเลาะบาะแว้งกันเอง รวมถึงขัดแข้งขัดขานายกฯไม่สิ้นสุดจนกลายเป็นอุปสรรคเป็นปัญหาในการทำงานมาตลอด ขณะที่ผลโพลล์หลายสำนักก็ชี้ชัดว่าพรรคพลังประชารัฐคะแนนนิยมตกต่ำน่าใจหาย ตรงนี้ก็อาจจะทำให้บิ๊กตู่คิดหนักเหมือนกันหากจะไปต่อกับพรรคเก่าเรือแป๊ะลำเดิมที่สนิมขึ้นผุพัง จนคนไทยจำนวนมากแฟนคลับนายกฯไม่เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะพาบิ๊กตู่ไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จโดยเฉพาะการเป็นนายกฯสมัย ๓
อย่างไรก็ตามหากบิ๊กตู่เลือกที่จะไม่ไปต่อกับพรรคพลังประชารัฐ ก็มีพรรคน้องใหม่อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ปูพรหมแดงรอต้อนรับบิ๊กตู่อยู่แล้ว จุดแข็งจุดดีของพรรคน้องใหม่ประการแรกแกนนำกับคนในพรรคล้วนแล้วแต่เป็นคนรักและศรัทธาในตัวพล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่ “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค “เสี่ยขิง” เอกนัฎ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค ฯลฯ เพราะฉะนั้นหากบิ๊กตู่มาเป็นแคนดิเดตนายกฯให้กับพรรคนี้ รับรองได้เลยว่าบิ๊กตู่ไม่มีปัญหากวนใจ ไม่มีเรื่องหอกข้างแคร่ ไม่ต้องกลัวถูกคนในพรรคแทงหลัง เพราะหัวหน้าพรรคนี้อย่างพีระพันธุ์คือน้องรักทางการเมืองสายตรงของบิ๊กตู่เลย ทั้งเรื่อง นิสัยใจคอ จุดยืนทางการเมือง อุดมการณ์รักชาติปกป้องสถาบันถอดแบบบิ๊กตู่มาเป๊ะเลย ประการที่สองการเป็นพรรคสดใหม่ แม้จะเพิ่งตั้งมาได้ไม่นานแต่การประกาศเป็นพรรคไม่มีขั้ว ไม่มีก๊วน เน้นจุดยืนสนับสนุนบิ๊กตู่เป็นหลักก็น่าจะทำให้นักการเมืองกลุ่มต่างๆไหลรวมมาอยู่ที่พรรคนี้ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเล็กอื่นๆ โดยไม่มีข้อจำกัดไม่มีข้อแม้ทางการเมือง แม้จะมีจุดดีจุดแข็งที่เป็นพรรคบิ๊กตู่อยู่แล้ว เพราะตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนค้ำชูบิ๊กตู่ในการเลือกตั้งคราวหน้า แต่ก็มีจุดอ่อนที่ต้องคิดถึงคำนึงอยู่เหมือนกันประการแรกการเป็นพรรคตั้งใหม่น้องใหม่ในระยะเวลาอันสั้นอาจทำให้คนไม่รู้จักชาวบ้านไม่คุ้นหูเหมือนอย่างที่หลายคนเป็นห่วง เพราะโพลล์หลายสำนักล่าสุดที่สำรวจมาก็ยังไม่มีชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติติดเข้ามาในท็อปเท็นเลย
ประการที่สองแม้จะมีผู้สมัคร “ดี-เด่น-ดัง” ไหลเข้าไปอยู่กับพรรคจำนวนมาก แต่การจะได้ส.ส.ในมือเท่าไหร่ในวันเลือกตั้งจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่บิ๊กตู่เป็นห่วงและน่ากังวลอยู่ อย่าลืมว่าตามรัฐธรรมนูญ ม. ๑๕๙ พรรคที่จะเสนอชื่อนายกฯได้ต้องได้ส.ส. ๒๕ คน ขึ้นไป ตรงนี้ก็ต้องลุ้นไปด้วยไม่งั้นชื่อของบิ๊กตู่จะเสียของ แต่เชื่อแน่ว่าตรงนี้หากบิ๊กตู่มาจริงๆ เรื่องส.ส. ๒๕ คนไม่น่ามีปัญหา แต่ที่น่าเป็นห่วงคือประเด็นที่สามก็คือ การตัดคะแนนกันเองของพรรคขั้วเก่าฝ่ายรัฐบาล จากเดิมตัดคะแนนกันเองแค่ ๒ พรรคก็ว่าหนักแล้วในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว ระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ กับ พรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีแฟนคลับฐานเดียวกันทั้งในกรุงเทพฯ และ ภาคใต้ มารอบนี้ถ้าแบ่งออกเป็น ๓ พรรค ประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ คะแนนจะเฉลี่ยไปมากขนาดไหน แทนที่จะได้คะแนนมารวมกัน เผลอๆตัดกันเองอาจทำให้พรรคขั้นตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลโผล่มาเป็น “ตาอยู่” ก็ได้ ทำการเมืองสบายใจอยู่กับพรรคการเมืองที่เข้าใจกันมันก็ดีสำหรับบิ๊กตู่แหละ แต่ถ้าแบ่งพรรคแยกกันเดินเผลอจะเข้าทางพรรคเพื่อไทยฝ่ายทักษิณขั้นตรงข้ามเอาง่ายๆ เรื่องพรรค์นี้ พล.อ.ประวิตรกับพล.อ.ประยุทธ์ ต้องคิดกันให้ดีเถียงกันให้หนัก ทางออกไหนดีที่สุด ทำการเมืองย่อมมีได้มีเสีย ได้ ๑๐๐ ทั้งหมดคงไม่มี ถ้าไม่คิดถึงประโยชน์เบื้องหน้าอาจตายหมู่พร้อมกันก็เป็นได้
//////////////////