ชมภาพถ่าย "ดาราศาสตร์" ฝีมือคนไทย ในชื่อครอบครัวระบบสุริยะ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2565 ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
ข่าวที่น่าสนใจ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย ภาพถ่าย “ดาราศาสตร์” ฝีมือคนไทย ประจำสัปดาห์นี้ เป็นภาพครอบครัวระบบสุริยะ ฝีมือการถ่ายของคุณกีรติ คำคงอยู่ ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดภาพถ่ายดารา ศาสตร์ ปี 2565 ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
เหล่าวัตถุในระบบสุริยะที่เราเห็นในภาพนี้ประกอบด้วย
- ดวงอาทิตย์
- ดาวพุธ
- ดาวศุกร์
- ดาวอังคาร
- ดาวพฤหัสบดี
- ดาวเสาร์
- ดาวยูเรนัส
- ดาวเนปจูน
- และดวงจันทร์
เนื่องจาก เราไม่สามารถสังเกตเห็นดาวเคราะห์แต่ละดวงบนท้องฟ้าได้ในเวลาเดียวกัน ประกอบกับฤดูกาลที่เป็นอุปสรรค การถ่ายภาพชุดนี้ครบทั้งระบบสุริยะจึงใช้เวลารวมมากกว่า 1 ปี
ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่ามีอยู่ทั้งหมด 5 ดวง ได้แก่
- ดาวพุธ
- ดาวศุกร์
- ดาวอังคาร
- ดาวพฤหัสบดี
- และดาวเสาร์
นอกเหนือจากนี้ ต้องสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์จึงจะเห็นได้ และหากต้องการเห็นรายละเอียดพื้นผิวที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จะต้องใช้การถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ในรูปแบบวิดีโอ
เนื่องจาก ดาวเคราะห์เป็นวัตถุที่อยู่ใกล้โลก เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์เราจะเห็นดาวเคราะห์เป็นรูปทรงกลม ต่างจากดาวฤกษ์ที่จะเห็นเป็นเพียงจุดสว่างเนื่องจากอยู่ไกลมาก เมื่อแสงเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศ วัตถุที่เห็นจะมีการสั่นไหวตลอดเวลา จึงต้องบันทึกภาพในรูปแบบวิดีโอ ซึ่งใน 1 วินาทีจะได้ภาพจำนวนมาก และยังใช้เวลาในการถ่ายน้อยกว่า
สำหรับดาวเคราะห์จะใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพชุดเดียวกัน ใช้โปรแกรม Firecapture บันทึกวิดีโอความยาวครั้งละ 30 วินาทีในทุกฟิลเตอร์ RGB ยกเว้นเพียงดาวศุกร์ ที่จะบันทึกผ่านฟิลเตอร์ IR และ UV โดยบันทึกฟิลเตอร์ละ 15,000 ภาพ จากนั้นนำไปรวมกันด้วยโปรแกรม Autostakert แล้วเพิ่มรายละเอียดพื้นผิวด้วย Registax5 หลังจากนั้นนำทุกภาพไปปรับสีด้วยโปรแกรม Photoshop ต่อไป
สำหรับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้น ผู้ถ่ายต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทางในการถ่ายเพื่อให้เหมาะสมกับภาพชุดนี้ การถ่ายดวงอาทิตย์จะใช้แผ่นกรองแสง Hydrogen Alpha ในการถ่าย เพื่อให้เห็นรายละเอียดของพื้นผิว จุดบนดวงอาทิตย์ และเปลวสุริยะ บันทึกผ่านกล้อง Takahashi FC60 350mm F5.9 + IR Cutoff และฟิลเตอร์ Daystar quark chromosphere Hydrogen Alpha โดยถ่ายเป็นวิดีโอจำนวน 5,000 ภาพ จากนั้นจะมีขั้นตอนการประมวลผลคล้ายกับการถ่ายภาพดาวเคราะห์
ส่วนดวงจันทร์ ผู้ถ่ายใช้กล้อง DSLR ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 9.25 นิ้ว และเลือกช่วงที่ดวงจันทร์ไม่เต็มดวง เนื่องจากจะเป็นช่วงที่แสงจากดวงอาทิตย์ทำให้เกิดเงาบริเวณขอบหลุมอุกกาบาต ส่งผลให้เห็นรายละเอียดของพื้นผิวและหลุมบนดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน
รายละเอียดการถ่ายภาพ
- สถานที่ถ่ายภาพ : Aurora Sky Roof Observatory ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก
- อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายถาพ : Celestron 9.25″ Schmidt-Cassegrain 2350mm F10 บนขาตั้งกล้องตามดาว Skywatcher EQ6 pro + ZWO ASI 290 mono +televue 2.5X และ FC60 + Daystar quark chromosphere Hydrogen Alpha Filter และ Canon 6D
- เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : Video shot ละ 30 วินาที ในทุกสี RGB
- ขนาดหน้ากล้อง : 9.25 นิ้ว
- ความยาวโฟกัส : 2350mm x2.5
- อัตราส่วนความยาวโฟกัส : F10 x2.5
- ฟิลเตอร์ : Daystar quark chromosphere Hydrogen Alpha Filter – IR cutoff – IR and UV filter
- ภาพ : นายกีรติ คำคงอยู่ – ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดภาพถ่าย “ดาราศาสตร์” ปี 2565 ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
ข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง