วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2565) ก่อนการประชุมครม.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำคณะผู้บริหาร เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2565 พร้อมติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลในการเผยแพร่การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทุกปีแก่นายกรัฐมนตรีด้วย
นายกฯ ร่วมกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “R-E-S-P-E-C-T : สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม” ย้ำทุกภาคส่วนร่วมสร้างสังคมปลอดภัย และเป็นพลังสำคัญยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ
ข่าวที่น่าสนใจ
นายกรัฐมนตรีกล่าวเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันแสดงพลังและรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวทุกรูปแบบ เพื่อสร้างครอบครัวที่มีความอบอุ่น มั่นคง และสังคมไทยที่มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการยุติความรุนแรง เมื่อครอบครัวปลอดภัย สังคมและประเทศชาติก็จะปลอดภัย ซึ่งการสร้างสังคมที่ปลอดภัยนับเป็นความรับผิดชอบของทุกคนและทุกภาคส่วน ย้ำทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยดีขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women) และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี”
สำหรับกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี พ.ศ. 2565 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “R-E-S-P-E-C-T : สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม” ประกอบด้วย Relationship Skill : เสริมสร้างความเข้มแข็งของทักษะความสัมพันธ์ Empowerment of women : เพิ่มขีดความสามารถของเพศหญิง ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม Services ensured : บริการที่เป็นมิตรแก่สตรี เพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงในครอบครัว Poverty reduced : ส่งเสริมเศรษฐกิจ เพื่อลดสภาวะการพึ่งพิงจากเพศชาย Environments made safe : สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในชุมชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว Child and adolescent abuse prevented : การป้องกันการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน เพื่อตัดวัฏจักรความรุนแรง และ Transformed attitudes, beliefs and norms : การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความเชื่อ และบรรทัดฐานซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อสตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ตลอดจนเห็นความสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 อันจะช่วยให้มีความเข้าใจและเข้าถึงสิทธิของตนเองในการใช้กฎหมาย ตลอดจนเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยใช้ริบบิ้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์สากล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง