มหากาพย์การต่อสู้ ตลอด 77 ปี ของพรรค “ประชาธิปัตย์” พรรคที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย่อมมีเหตุการณ์สำคัญให้หน้าประวัติศาสตร์บันทึกไว้แทบจะทุกช่วงตอน โดยเฉพาะห้วงเวลาปี พ.ศ. 2544 ไปจนถึง ปี พ.ศ. 2549 ตลอดระยะเวลาบริหารบ้านเมือง โดยมี “นายทักษิณ ชินวัตร” นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ประเทศชาติได้เกิดความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างหนัก มีข่าวฉาวให้พาดหัวหน้าหนึ่งรายวัน โดยเฉพาะปมทุจริตการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ อย่างกว้างขวาง ทำเอาแรงหนุน กองเชียร์ที่เคยยืนเคียงข้างตาสว่างกันทั้งแผ่นดิน โดยมีเหล่าขุนพลของพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันชำแหละ ตรวจสอบ จนทะลุปรุโปร่ง
เริ่มต้นฉากการต่อสู้ ในครั้งนั้น ทีมขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดย “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นหัวเรี่ยว หัวแรงหลัก มี “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” คอยงัดข้อมูลออกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาได้อย่างน่าเชื่อถือ และยังผนึกกำลังทีมกฎหมายมือฉมังของพรรค ประกอบไปด้วย นายวิรัช ร่มเย็น ,นายราเมศ รัตนะเชวง ฯลฯ เดินหน้าร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า “พรรคไทยรักไทย” จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็ก ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ กกต.ปลอมแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคเล็กเมื่อปี 2549 ซึ่ง กกต.เห็นว่า พรรคไทยรักไทย และพรรคเล็ก กระทำความผิดจริง จึงส่งอัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค
แต่ระหว่างนั้นเกิดรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 และตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ 9 คน เพื่อพิจารณาคดี