ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยานได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้
ใครได้ประโยชน์?
รฟม. กำลังเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงินงานโยธา 78,720 ล้านบาท โดยใช้เกณฑ์คัดเลือกผู้รับเหมาเหมือนกับการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เป็นข่าวอื้อฉาวและยังมีคดีฟ้องร้องกันอยู่ที่ศาล ซึ่งอาจจะมีคนติดคุก! แล้วทำไม รฟม. จึงอยากใช้เกณฑ์นี้อีก? และใครจะได้ประโยชน์จากการใช้เกณฑ์นี้?
ผมเห็นด้วยที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือที่เรียกกันว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก
แต่ผมไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์คัดเลือกผู้รับเหมาที่ รฟม.ใช้ เนื่องจากผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำสุด และมีความสามารถในการก่อสร้างสูงอาจไม่ได้รับเลือก ทำให้รัฐต้องเสียค่าก่อสร้างสูงกว่าอย่างน่าเสียดาย และที่สำคัญ เกณฑ์คัดเลือกนี้จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งก็ได้ หรือล็อกผู้รับเหมาได้ง่ายกว่านั่นเอง
เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้
รฟม. พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านราคาพร้อมๆกัน โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านราคา 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ทั้งนี้ รฟม. ให้เหตุผลที่ใช้เกณฑ์นี้ว่าจำเป็นต้องได้ผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์และสมรรถนะสูง เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีเส้นทางผ่านเขตชุมชนหนาแน่น และพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูง ดังเช่นพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นต้น
เกณฑ์ประมูลโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ
โครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ใช้เกณฑ์ประมูลโดยพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อนข้อเสนอด้านราคา กล่าวคือให้คะแนนด้านเทคนิค 100% และคะแนนด้านราคา 100% หากผู้รับเหมารายใดสอบผ่านด้านเทคนิคก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านราคาต่อไป ใครได้คะแนนด้านราคาสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล
เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีข้อเสียอย่างไร?
การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านราคามีข้อเสียดังนี้
- รฟม. อาจต้องเสียค่าก่อสร้างมากกว่า
การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านราคาอาจทำให้ผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำสุดไม่ได้รับการคัดเลือก เพราะเขาอาจได้คะแนนรวม (ด้านเทคนิค+ด้านราคา) น้อยกว่า ทำให้ รฟม. ต้องเสียค่าก่อสร้างมากกว่า
- ล็อกผู้รับเหมาได้ง่าย
หากกรรมการคัดเลือกต้องการช่วยผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งสามารถทำได้ง่าย เนื่องจากมีการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านราคา หากเห็นว่าผู้รับเหมารายนั้นเสนอราคาค่าก่อสร้างสูงซึ่งจะทำให้ได้คะแนนด้านราคาต่ำกว่าก็จะเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคให้มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ โครงการขนาดใหญ่จึงใช้เกณฑ์ประมูลนี้น้อยมาก รวมทั้งโครงการของ รฟม. ด้วย เท่าที่ทราบ รฟม. เคยใช้เกณฑ์พิจารณาด้านเทคนิคพร้อมกับด้านราคามาก่อน แต่เป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ หลังจากนั้น รฟม.ไม่ใช้เกณฑ์นี้อีกเลย เพราะรู้ว่าเกณฑ์นี้ลดความสำคัญของข้อเสนอด้านเทคนิค ไม่เหมาะสมกับโครงการที่มีความซับซ้อน ดังนั้น ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าต่อมา รฟม. จึงเลือกพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากสอบผ่านจึงจะพิจารณาข้อเสนอด้านราคา หากสอบตกก็จะไม่พิจารณาข้อเสนอด้านราคา ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความสำคัญต่อข้อเสนอด้านเทคนิคอย่างแท้จริง ทำให้ได้ผู้รับเหมาที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง และคิดราคาค่าก่อสร้างต่ำกว่า
เกณฑ์ประมูลโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ มีข้อดีอย่างไร?
การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อนข้อเสนอด้านราคามีข้อดีดังนี้
- รฟม. เสียค่าก่อสร้างต่ำกว่า
เกณฑ์นี้มีการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อนข้อเสนอด้านราคา หากสอบผ่านด้านเทคนิคจึงจะพิจารณาด้านราคา ผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อนข้อเสนอด้านราคาจะทำให้ให้ รฟม. ได้ผู้รับเหมาที่มีความสามารถสูง เหมาะสมกับงาน และทำให้ รฟม. เสียค่าก่อสร้างต่ำกว่าด้วย
- ล็อกผู้รับเหมาได้ยาก
การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อนข้อเสนอด้านราคาจะทำให้กรรมการคัดเลือกไม่สามารถช่วยผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งได้ เนื่องจากผู้รับเหมาที่สอบผ่านด้านเทคนิคจะต้องเป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดเท่านั้นจึงจะได้รับการคัดเลือก กรรมการไม่สามารถให้คะแนนด้านราคาตามความต้องการของตนได้
ด้วยเหตุนี้ เกณฑ์การประมูลที่พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อนข้อเสนอด้านราคาจึงเป็นที่นิยมใช้สำหรับโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการที่มีการก่อสร้างผ่านเขตชุมชนหนาแน่น และพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูง ดังเช่นพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ หรือการก่อสร้างที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงทั้งโครงการของ รฟม. และของหน่วยงานอื่น เช่น
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค ของ รฟม. ซึ่งต้องขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ของ รฟม. ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ไม่เคยมีการก่อสร้างในประเทศไทยมาก่อน
- โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของ ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และใช้วงเงินลงทุนสูง
- โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (สายอีสาน) และหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ของกรมทางหลวง
- โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สรุป
เห็นกันชัดๆ แล้วว่า เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีผลกระทบต่อภาครัฐ ดังนั้น หาก รฟม. ประสงค์ที่จะทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์สูงสุดก็ควรที่จะใช้เกณฑ์ประมูลที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับโครงการขนาดใหญ่ นั่นคือพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อนการพิจารณาข้อเสนอด้านราคา ซึ่งจะทำให้ รฟม. เสียค่าก่อสร้างต่ำกว่า และได้ผู้รับเหมาที่มีสมรรถนะสูงเหมาะสมกับงานของ รฟม. ที่สำคัญ จะไม่ถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมารายใดรายหนึ่ง
ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง