ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ตอบคำถามถึงการแก้ปัญหา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า กำลังให้ กทม.ดำเนินการแก้ไขอยู่ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นผู้บริหารกทม. แถลงยืนยันว่าการตัดสินใจทั้งหมด ขึ้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. และ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
ล่าสุดวันนี้ (24 พ.ย.65) ทีมข่าว TOPNEWS ได้สัมภาษณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งกล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีได้ว่าอย่างไรบ้าง เนื่องจากตนเองยังไม่ได้ฟังที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูด แต่หากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กทม.เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ในส่วนที่กทม.สามารถทำได้นั้น คือส่วนที่เคยบอกไป
โดยในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น จะมีหนี้ด้วยกัน 2 ส่วน คือ ส่วนต่อขยายที่ 1 ซึ่งไม่มีปัญหา เพราะมีสัญญาที่ครบถ้วน แต่จะต้องรอระยะเวลา เพราะเรื่องทั้งหมด ขณะนี้ อยู่ที่ คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณา เพราะได้มีการนำหนี้ทั้งหมดไปรวมไว้กับการต่อสัญญาสัมปทาน หากสามารถปลดเรื่องนี้ได้ ทางกทม. ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินให้เอกชน เพราะเป็นเรื่องที่มีการจ่ายเงินปกติ
ขณะที่ภาระหนี้ส่วนต่อขยายที่ 2 เนื่องจากยังมีขั้นตอนที่มีความไม่ครบถ้วนอยู่ และในการการชำระเงิน เพราะสุดท้ายในการจ่ายเงิน ไม่ใช่เงินของผู้ว่าฯ กทม. แต่เป็นเงินงบประมาณ ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของสภากทม. เสียก่อน และที่ผ่านมาในเรื่องของส่วนต่อขยายที่ 2 ได้มีการนำเรื่องเข้าสู่สภา กทม. มาแล้วสองครั้ง ทั้งชุดที่มีการแต่งตั้ง ซึ่งมีการขอนำเสนอวาระก็ไม่ได้รับการบรรจุ และได้มีการเสนอขอเงินงบประมาณจ่ายขาดก็ไม่ได้รับการอนุมัติจากสภากทม. เพราะไม่ตรงกับวัตถประสงค์การใช้เงิน ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การที่กทม. จะนำเงินไปจ่ายหนี้ให้เอกชนนั้น ไม่ใช่จะสามารถทำได้อย่างทันท่วงที แต่จะต้องมีกระบวนการที่ครบถ้วน ยืนยัน พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ขณะเดียวกัน นายชัชชาติ มองว่า ในการดำเนินการก่อนหน้านี้ เป็นการดำเนินงานที่เร็วเกินไป หรือ อาจจะเป็นเรื่องเร่งรัด แต่สุดท้ายคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหา จะต้องทำตามขั้นตอนให้ครบถ้วน เพราะไม่ใช่เงินตนเอง แต่เป็นเงินภาษีประชาชนที่มีขั้นตอนการดำเนินการ ส่วนผู้ว่าฯ เป็นเพียงผู้ดูแลงบประมาณ และงบประมาณก็จะต้องมีขั้นตอนในการจ่ายเงิน ดังนั้น ในการจ่ายหนี้จะต้องถามว่าจะนำเงินส่วนไหนมาจ่ายหนี้ หากเป็นเงินจากงบประมาณก็จะต้องผ่านระบบงบประมาณที่มีสก.เป็นผู้อนุมัติ หากเป็นเงินสะสมก็จะต้องผ่านการอนุมัติจากสก. เช่นกัน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะต้องมีขั้นตอนการดำเนินงาน