นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ที่มีผลการตรวจด้วย Antigen test kit จัดเป็น “ ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย หรือprobable case ” ตามนิยามของกรมควบคุมโรค ซึ่งอาจจะพบผลบวกปลอมได้ประมาณร้อยละ 3-5 โดยแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ของกรมการแพทย์ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ให้แนวทางไว้ว่า ในสถานการณ์ที่มีการระบาดอาจมีความจําเป็นต้องใช้ Antigen test kit เพื่อการวินิจฉัย ถ้าผู้ป่วยตรวจด้วยตนเองแล้วได้ผลบวกให้ดำเนินการดูแลรักษาเสมือนเป็นผู้ป่วย โควิด-19 สามารถดำเนินการ Home isolation รับยาได้ทันที หากจะรับไว้ในโรงพยาบาลควรตรวจยืนยันด้วย RT-PCR ตามแนวทางของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และต้องแยกกับผู้ปวยCOVID-19 รายอื่นก่อนจนกว่าจะได้ผล RT-PCR ยืนยัน
นอกจากนี้ได้หารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมมีมติให้ เมื่อผู้ที่มีผลการตรวจ Antigen test kit หากมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาแบบ Community isolation หรือในสถานพยาบาล หรือในสถานที่อื่นใดที่จัดไว้เพื่อดูแลผู้ป่วย COVID-19 จะต้องได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR แต่จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับการรักษาใดๆ โดยให้ดำเนินการรับผู้ป่วยเข้ารักษา ชี้แจงให้ผู้ป่วยรับทราบถึงความเสี่ยงจากผลบวกปลอม เซ็นใบยินยอมเข้ารับการรักษา พร้อมกับตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR เร่งรัดการรายงานผล ดำเนินการแยกผู้ที่ตรวจด้วย Antigen test kit ออกจากผู้ป่วย COVID-19 รายอื่นระหว่างรอผลตรวจยืนยันด้วย RT-PCR
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นการปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อให้ผู้ป่วย COVID-19 ได้เข้าถึงการบริการได้เร็วขึ้นลดการเจ็บป่วยที่รุนแรงและลดการเสียชีวิต รวมถึงการแยกผู้ป่วยจากครอบครัวและชุมชนเป็นการป้องกันการแพร่กระจายโรคได้อีกทาง